วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2556

ปพพ.หลักการแสดงเจตนา

อ.พยัพ

การแสดงเจตนา

เจตนาซ่อนเร้น(มาตรา 154)

      การแสดงเจตนาใด แม้ในใจจริงผู้แสดงจะมิได้เจตนาให้ตนต้องผูกพันตามที่ได้แสดงเจตนาออกมาก็ตาม การแสดงเจตนานั้นไม่เป็นโมฆะ เว้นแต่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนเร้นอยู่ในใจของผู้แสดงนั้น”
      1. เจตนาซ่อนเร้นถือเจตนาที่จะแสดงออกมาเป็นสำคัญ แม้ไม่ตรงกับเจตนาภายในต้องผูกพันตามเจตนาที่แสดงออกมา  แต่ถ้าคู่กรณีอีกฝ่ายรู้ถึงเจตนาที่ซ่อนอยู่ภายใน การแสดงเจตนาเป็นโมฆะ เช่น แม้ในใจจำเลยที่ 3 เจตนาจะค้ำประกันจำเลยที่ 1 ภายในกำหนด 120 วัน ไม่เจตนาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประกาศประกวดราคาก็ตาม แต่ตามสัญญาค้ำประกันไม่กำหนดระยะเวลาค้ำประกันไว้เพียง 120 วัน จำเลยที่ 3 กลับทำสัญญาค้ำประกันโดยแสดงเจตนาว่าจะไม่เพิกถอนการค้ำประกันในระหว่างเวลาที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประกาศประกวดราคาโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์รู้ถึงเจตนาในใจของจำเลยที่ 3 ว่าต้องการผูกพันเพียง 120 วัน จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประกวดราคาที่ได้แสดงเจตนาออกมา(ฎ.967/38)
      2.ถ้าคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งรู้ถึงเจตนาซ่อนเร้นของผู้แสดงเจตนา การแสดงเจตนาเป็นโมฆะ เช่นจำเลยเสนอขายของตามใบประกวดราคาแก่โจทก์โดยคำนวณราคาผิดไป 1 จุดทศนิยม ซึ่งเจ้าหน้าที่ของโจทก์บันทึกเสนอผู้แทนโจทก์ว่าไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ เพราะต่ำกว่าราคาประเมิน 10 เท่า ถือว่าโจทก์ทราบความสำคัญผิดของจำเลย  (ฎ.527/05)
      3. หากคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นนิติบุคคล  ผู้แทนนิติบุคคลทราบเจตนาที่แท้จริงของฝ่ายที่แสดงเจตนาถือว่านิติบุคคลทราบแล้ว เว้นแต่กรณีที่ประโยชน์ส่วนได้เสียของนิติบุคคลนั้นขัดกับผู้แทนนิติบุคคล ผู้แทนนิติบุคคลไม่มีอำนาจเป็นผู้แทนได้เนื่องจาก ปพพ.มาตรา 74 กำหนดห้ามไว้  ความรู้ของผู้แทนนิติบุคคลไม่ถือว่าเป็นความรู้ของนิติบุคคลด้วย การแสดงเจตนาไม่เป็นโมฆะ เช่นจำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินธนาคาร ที่จริงแล้วจำเลยไม่ได้กู้เองแต่แสดงเจตนาว่าจะกู้เอง ความจริงทำสัญญาแทนประธานกรรมการโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการธนาคารโจทก์ด้วย จำเลยไม่ต้องการผูกพันตามสัญญากู้เลย จำเลยต้องผูกพันตามที่แสดงเจตนาออกไป แม้ประธานกรรมการโจทก์จะทราบถึงเจตนาในใจของจำเลยว่าจำเลยไม่ต้องการผูกพันตามที่แสดงออกมา จะถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลรู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของจำเลยไม่ได้ (ฎ.580/09)***
      4. การนำสืบพยานหลักฐาน การแสดงเจตนาซ่อนเร้น แม้เป็นการยากที่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งทราบเจตนาอันแท้จริง จึงอาจพิสูจน์กันได้ด้วยพยานหลักฐาน ซึ่งการกล่าวอ้างนิติกรรมเป็นโมฆะเพราะมิใช่เจตนาอันแท้จริง แม้นิติกรรมนั้นมีกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือหรือให้มีหลักฐานเป็นหนังสือ ก็ไม่ต้องห้ามนำสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้าง เพราะเป็นการนำสืบว่านิติกรรมหรือหนี้ไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ พ.มาตรา 94
      5.ตัวอย่างการแสดงเจตนาซ่อนเร้นตามแนวฎีกา เช่น ทำหนังสือแสดงเจตนาสละสิทธิครอบครองยอมคืนที่ดินมือเปล่าให้เขาแล้ว ภายหลังจะอ้างว่าไม่มีความตั้งใจเช่นนั้นโดยเพียงต้องการลวงให้เขาหายจากวิกลจริตไม่ได้(ฎ.503/97) สละความตั้งใจเดิมที่จะเป็นผู้ค้ำประกัน โดยยอมให้เป็นผู้กู้ต้องรับผิดฐานเป็นผู้กู้ (ฎ.791/01)


การแสดงเจตนาลวง(มาตรา 155)
      การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นไม่ได้
      1. การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง หมายถึงคู่กรณีทั้งสองฝ่ายไม่ประสงค์จะให้การแสดงเจตนาที่แสดงออกมานั้นมีผลผูกพันกันตามกฎหมายอย่างแท้จริง แต่กระทำไปเพื่อให้บุคคลอื่นเข้าใจว่ามีนิติกรรมเกิดขึ้นจริง โดยมีความประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง การแสดงเจตนาดังกล่าวตกเป็นโมฆะ
      2.ตัวอย่างการแสดงเจตนาลวง เช่นทำสัญญาโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อเพื่อนำไปแสดงขอบัตรติดรถยนต์ผ่านทางเท่านั้น โดยมิได้มีเจตนาโอนสิทธิการเช่าซื้อกันจริง การโอนจึงเป็นเพียงการแสดงเจตนาลวง เป็นโมฆะ(ฎ. 6886/42) กู้เงินธนาคารแต่ไม่มีทรัพย์เป็นประกัน จึงขอยืมที่ดินของผู้อื่นไปจดทะเบียนจำนองกับธนาคาร โดยให้เจ้าของจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้ผู้อื่น โดยไม่มีการซื้อขายกันจริง สัญญาซื้อขายเป็นสัญญาที่เกิดจาการแสดงเจตนาลวงของคู่กรณี เป็นโมฆะ ผู้รับโอนต้องโอนที่ดินคืน สำหรับผู้รับจำนองถ้ากระทำการโดยสุจริตย่อมได้รับความคุ้มครอง (ฎ.379/36) โจทก์โอนที่พิพาทให้จำเลยที่ 1 โดยแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กับจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน และโอนให้หลังจากที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 โอนที่พิพาทคืนแก่โจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 2 ทราบเรื่องนี้ดี แสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่สุจริต โจทก์ยกขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 2 ได้ตาม ปพพ.มาตรา 155 โจทก์ยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาท(ฎ.1096-7/33) สมคบกันทำสัญญาขายหรือยกทรัพย์สินให้ผู้อื่น เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้ถูกยึดทรัพย์นำไปชำระหนี้ตามคำพิพากษา การแสดงเจตนาขายหรือยกทรัพย์เป็นเจตนาลวงเป็นโมฆะ ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างตาม ปพพ.มาตรา 172 ก็ได้ โจทก์ทั้งสองชอบที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนเสียเมื่อใดก็ได้(ฎ.4056/33) กรณีนี้ไม่เป็นการเพิกถอนการฉ้อฉล จึงฟ้องขอให้เพิกถอนเมื่อใดก็ได้ ไม่อยู่ในบังคับ 1 ปี ตาม ปพพ.มาตรา 240(ฎ.2041/47)  สามีภริยาจดทะเบียนหย่าโดยมิได้มีเจตนาหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา แต่ทำไปเพื่อลวงผู้อื่นเกี่ยวกับทรัพย์สินของสามีภริยานั่นเอง แล้วภริยาทำนิติกรรมขายที่ดินอันเป็นสินเดิมให้สามีเพื่อกันบุตรของภริยาที่เกิดแต่สามีคนเก่า แต่ความจริงไม่มีการซื้อขาย นิติกรรมซื้อขายเป็นโมฆะ (ฎ.863-4/96) ก.ทำหนังสือยกที่ดินให้ ข.โดยไม่ตั้งใจยกให้โดยเสน่หา แต่ทำเพื่อให้ ข.นำไปจำนองกับสหกรณ์แล้วเอาเงินมาให้ ก.ใช้ นิติกรรมเป็นโมฆะ มีผลทำให้ที่ดินพิพาทไม่เคยตกเป็นของ ข. แต่ยังเป็นของ ก.ตลอดมา ข.ตายก่อนจำนองสหกรณ์ ที่ดินดังกล่าวไม่ใช่มรดก ข. ทายาท ข.ขอแบ่งไม่ได้ (ฎ.1016/13) โจทก์ต้องการจำนองที่ดินแต่จำนองด้วยตนเองไม่ได้เงินมาก จึงจดทะเบียนขายฝากให้จำเลย แล้วให้จำเลยนำไปจำนองกับบริษัท ท.ซึ่งเป็นผู้จัดการและเป็นญาติกับจำเลยนำเงินมาให้โจทก์     นิติกรรมขายฝากเป็นเพียงเจตนาลวงเพื่อให้จำเลยนำที่ดินพิพาทซึ่งไปจำนองเท่านั้นเป็นโมฆะ ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ๆ เรียกคืนจากจำเลยฐานลาภมิควรได้ เงินที่โจทก์ได้มาเป็นเงินผู้รับจำนองซึ่งเป็นเจ้าหนี้โดยตรง(ฎ.132/24) จำเลยจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้ผู้ร้อง ภายหลังผู้ร้องทราบว่าจำเลยถูกโจทก์ฟ้องและกำลังถูกศาลบังคับชำระหนี้โจทก์ เป็นพฤติการณ์ที่สมคบกันเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้ถูกยึดใช้หนี้โจทก์ การจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้กันระหว่างจำเลยกับผู้ร้องเป็นการแสดงเจตนาลวงเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับตามมาตรา 155 (ฎ.4050/33) โจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินโดยไม่มีเจตนาแท้จริงผูกพันกันเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันระหว่างโจทก์จำเลย เพื่อให้โจทก์นำที่ดินและบ้านไปจำนองเป็นประกันหนี้กู้ยืมต่อธนาคาร และให้จำเลยทำสัญญาเช่าเพื่อเป็นประกันการผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคาร สัญญาซื้อขายและสัญญาเช่าเป็นโมฆะ(ฎ.2952/54)
      3.กรณีไม่ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาลวง เช่น การดำเนินธุรกิจที่เคยปฏิบัติกันมาตามพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาขายรถยนต์แก่โจทก์เพื่อนำไปให้ ส.เช่าซื้ออีกต่อหนึ่ง เป็นวิธีทำธุรกิจอย่างหนึ่ง ซึ่งจำเลยและโจทก์ปฏิบัติต่อกันมาหลายปี แม้โจทก์และจำเลยที่ 1 ไมใช่เจ้าของรถยนต์ขณะทำสัญญาซื้อขายรถยนต์คันดังกล่าว จำเลยที่ 1 ต้องผูกพันตามสัญญาที่แสดงเจตนาออกมานั้น จะอ้างเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับโจทก์เพื่อหลอกผู้อื่นให้หลงผิดไม่ได้ เพราะผู้ขายไม่จำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินในขณะซื้อขาย (ฎ.3763/42)จำเลยไม่เป็นหนี้โจทก์ เมื่อจำเลยแสดงเจตนาโดยทำบันทึกข้อตกลงให้โจทก์ระบุว่าจำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามเช็คที่ฟ้องจำนวน 400,000 บาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหนี้ 1,000,000 บาท ที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่ บันทึกดังกล่าวไม่ระบุเลยว่าจำเลยทำแทนบริษัท ช.ที่จำเลยเป็นกรรมการอยู่ แสดงว่าการที่จำเลยทำบันทึกข้อตกลงเป็นส่วนตัวยอมผูกพันตนเข้าเป็นลูกหนี้ของโจทก์เพื่อชำระหนี้จำนวน 1,000,000 บาท อีกคนหนึ่ง เมื่อโจทก์ไม่รู้เจตนาอันซ่อนเร้นอยู่ในใจจำเลยว่าจำระหนี้แก่โจทก์เพียง 400,000 บาท ส่วนหนี้ที่เหลือจำเลยมีเจตนาให้มีผลผูกพันบริษัท ช.อันเป็นเหตุให้การแสดงเจตนาเป็นโมฆะตามมาตรา 154 จำเลยต้องผูกพันตามที่แสดงเจตนาออกมา(ฎ.7602/53)
      4. การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้ตกเป็นโมฆะ
             4.1 ะยกขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นไม่ได้ (ม.155 วรรคแรก) บุคคลภายนอกที่จะได้รับความคุ้มครองนั้นต้องทั้งสุจริตและเสียหายด้วย แต่การที่บุคคลภายนอกรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยเจตนาลวงยังรับซื้อไว้ ถือว่าไม่สุจริตไม่ได้รับความคุ้มครองจะอ้างว่าต้องเสียหายเพราะการชำระราคาไปไม่ได้ (ฎ.1704-1705/15) เมื่อบุคคลภายนอกได้รับความคุ้มครองแล้ว ผู้ที่ได้รับโอนทรัพย์จากบุคคลภายนอกย่อมได้รับความคุ้มครองเช่นกัน (ฎ.1156/45)
            4.2  นิติกรรมอันเกิดจากการแสดงเจตนาลวง เป็นโมฆะ จึงไม่ต้องฟ้องขอให้เพิกถอน(ฎ.๖๔๘/๑๓)
      5.เจตนาลวงกับเจตนาซ่อนเร้นและการฉ้อฉล
             5.1 การแสดงเจตนาลวงเป็นการแสดงเจตนาซ่อนเร้นตามมาตรา 154  ด้วย เพราะเป็นการแสดงเจตนาที่ไม่จริงเช่นเดียวกัน แต่การแสดงเจตนาซ่อนเร้นเป็นการลวงเฉพาะคู่กรณี ส่วนการแสดงเจตนาลวงเป็นการสมรู้ระหว่างคู่กรณีเพื่อลวงคนอื่น กฎหมายจึงคุ้มครองเฉพาะบุคคลภายนอก ระหว่างคู่กรณีซึ่งร่วมรู้ด้วยกันไม่อาจถือเอาประโยชน์จากการแสดงเจตนาลวงนั้นได้
             5.2 การแสดงเจตนาลวงไม่ใช่การหลอกลวงให้เขาแสดงเจตนาทำนิติกรรมซึ่งเป็นการฉ้อฉล(มาตรา 159-163) เพราะการแสดงเจตนาลวงผู้แสดงเจตนาไม่มุ่งจะผูกนิติสัมพันธ์ ส่วนกลฉ้อฉลนั้นผู้แสดงเจตนามุ่งจะผูกนิติสัมพันธ์ แต่การแสดงเจตนาวิปริตไปเพราะการหลอกลวง  ดังนั้นการแสดงเจตนาอันได้มาเพราะกลฉ้อฉล นิติกรรมจึงเป็นเพียงโมฆียะ ไม่เป็นโมฆะเหมือนการแสดงเจตนาลวง
             5.3 การแสดงเจตนาลวงไม่ใช่การฉ้อฉลเจ้าหนี้ตามมาตรา 237 ซึ่งเป็นการทำนิติกรรมของลูกหนี้อันได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เช่นเขียวโอนที่ดินแก่ขาวเพื่อหลบหนีเจ้าหนี้ ถ้าโอนกันหลอก ๆ เป็นการแสดงเจตนาลวง นิติกรรมเป็นโมฆะ ถ้าโอนจริง ๆ แต่เป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบเป็นการฉ้อฉลเจ้าหนี้ นิติกรรมไม่เป็นโมฆะ เจ้าหนี้มีสิทธิเพียงฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนได้ เว้นแต่บุคคลผู้ได้ลาภงอกนั้นมิได้รู้ถึงข้อความจริง อันเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่กรณีให้โดยเสน่หา ลูกหนี้รู้ฝ่ายเดียวก็พอ

นิติกรรมอำพราง(มาตรา 155 วรรคสอง)

      การแสดงเจตนาลวงตามมาตรา 155 วรรคหนึ่ง กระทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น ต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพราง
      1. นิติกรรมอำพราง
             1.1 ต้องมีนิติกรรมเรื่องเดียวกัน 2 นิติกรรมคือนิติกรรมที่แสดงออกมาโดยเปิดเผย ไม่ตรงกับเจตนาที่แท้จริงของคู่กรณี ซึ่งคู่กรณีไม่ประสงค์ให้มีผลบังคับตามกฎหมาย เป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้ระหว่างคู่กรณี ตกเป็นโมฆะตาม 155 วรรคหนึ่ง ส่วนอีกนิติกรรมหนึ่งเป็นนิติกรรมที่ไม่เปิดเผยเรียกว่า"นิติกรรมที่ถูกอำพราง" ซึ่งตรงกับเจตนาที่แท้จริงของคู่กรณีและคู่กรณีประสงค์ให้ใช้บังคับระหว่างกันเอง ต้องบังคับตามนิติกรรมที่ถูกอำพราง  แต่กรณีสัญญาให้ที่ดินพิพาทมีข้อตกลงเพิ่มเติมว่าผู้รับต้องไปแบ่งแยกที่ดินโอนให้พี่น้องทุกคนภายหลัง ไม่ใช่นิติกรรมอำพรางเพราะมีนิติกรรมเดียวคือสัญญาให้ แต่เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตาม ปพพ.374(ฎ.11228/53)
             1.2 นิติกรรมทั้งสอง ต้องกระทำโดยคู่ความเดียวกัน หากนิติกรรมทั้งสองกระทำโดยคู่กรณีต่างกันเช่นสัญญาเช่าช่วงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และสัญญาเช่าช่วงระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 แม้จะทำวันเดียวกัน แต่เมื่อกรณีเป็นคนละคู่กันจึงไม่เป็นนิติกรรมอำพราง(ฎ.5236/42)
      2. นิติกรรมที่มีผลบังคับระหว่างคู่กรณีคือนิติกรรมที่ถูกอำพราง ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพราง คือหากนิติกรรมที่ถูกอำพรางมีแบบหรือหลักเกณฑ์อย่างไร ต้องเป็นไปตามนั้น นิติกรรมที่ถูกอำพรางกฎหมายบังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วยเช่นทำสัญญาจ้างทำนาเพื่ออำพรางสัญญาเช่านา เมื่อสัญญาเช่านาไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงฟ้องร้องบังคับคดีตามสัญญาเช่านาไม่ได้  (ฎ.1038-1039/09ป) นิติกรรมที่ถูกอำพรางต้องทำตามแบบที่กฎหมายบังคับเช่นจำนองอำพรางซื้อขายที่ดินพิพาท แต่สัญญาซื้อขายไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน สัญญาซื้อขายซึ่งเป็นสัญญาที่ถูกอำพรางตกเป็นโมฆะ(ฎ.950/25)จดทะเบียนโอนโฉนดขายให้เพราะเสียค่าธรรมเนียมถูกกว่ายกให้ ความจริงเป็นการยกให้ ต้องบังคับตามนิติกรรมอำพรางการยกให้ไม่เป็นโมฆะ ผู้โอนเรียกที่ดินคืนไม่ได้(ฎ.796-7/96). เจตนาแลกเปลี่ยนที่นากัน แต่ทำสัญญาขายให้ตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำเพื่อสะดวกในการโอนและเสียค่าธรรมเนียมถูก เป็นนิติกรรมอำพราง ต้องบังคับตามสัญญาแลกเปลี่ยน(ฎ.1269/97) จำเลยกู้เงินโจทก์โดยมอบรถยนต์ให้โจทก์ยึดถือว่าเป็นประกัน โดยทำหนังสือการรับเงินค่าขายรถยนต์มอบให้โจทก์เป็นหลักฐาน นิติกรรมการซื้อขายรถยนต์เป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้เงินเป็นโมฆะ ต้องบังคับตามนิติกรรมการกู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ตาม 155 วรรคสอง ถือว่าหนังสือการรับเงินค่าขายรถยนต์เป็นหลักฐานการกู้ยืม(ฎ.4696/36)
      3.ตัวอย่างนิติกรรมอำพราง เช่น ทำสัญญาขายฝากหรือสัญญาซื้อขายอำพรางการกู้เงิน สัญญาขายฝากหรือสัญญาซื้อขายเป็นหลักฐานการกู้ได้ เป็นเพราะสัญญาขายฝากหรือสัญญาซื้อขายมีข้อความระบุเกี่ยวกับการรับเงินอันเป็นสาระสำคัญของสัญญากู้เงิน(ฎ.862-863/20)หรือทำสัญญาขายฝากเพื่ออำพรางสัญญาจำนองหรือสัญญากู้ยืมเงิน เป็นการกู้เงินโดยมอบที่ดินให้ยึดถือเป็นประกันและถือว่าเอกสารการขายฝากเป็นสัญญากู้เงิน คู่กรณีต้องคืนเงินและที่ดินแก่กัน แต่การขายฝากจะเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินได้ต่อเมื่อสัญญาขายฝากทำขึ้นเพื่ออำพรางการกู้ยืมเงินเท่านั้น หากเจ้าหนี้ฟ้องว่าลูกหนี้ยืมเงินไปโดยอ้างสัญญาขายฝากเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงิน ต้องบรรยายให้เห็นว่าสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมเงิน ถ้าเพียงบรรยายว่าจำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์ไปและทำสัญญาขายฝากไว้เป็นหลักฐาน การกู้ยืมเงินนี้สัญญาขายฝากยังเป็นสัญญาขายฝาก การกู้ยืมเงินที่โจทก์ฟ้องไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือ (ฎ.3010/25)ถ้าวัตถุประสงค์ของสัญญาที่อำพรางและถูกอำพรางเป็นเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์เช่นเดียวกัน เช่นจดทะเบียนขายเพื่ออำพรางการให้หรือแลกเปลี่ยนอำพรางการขาย ถือว่าสัญญาที่ถูกอำพรางทำตามแบบแล้ว จึงบังคับตามนิติกรรมที่ถูกอำพรางได้(ฎ.1871/49) ทำพินัยกรรมเพื่ออำพรางการซื้อขายที่ดินซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอนพินัยกรรมเป็นโมฆะตาม 155 วรรคหนึ่ง สัญญาซื้อขายที่ดินตกเป็นโมฆะตาม 150(ฎ.125/38) ทำสัญญาจำนองอำพรางสัญญาซื้อขายที่ดินภายในกำหนดห้ามโอน ทั้งสัญญาจำนองและสัญญาซื้อขายตกเป็นโมฆะ(1136/40)ทำสัญญาซื้อขายที่ดินอำพรางสัญญาขายฝากที่ดิน มีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบของสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น ไม่ถือเป็นแบบของสัญญาขายฝากด้วย สัญญาซื้อขายที่ดินตกเป็นโมฆะเพราะเป็นเจตนาลวง ส่วนสัญญาขายฝากตกเป็นโมฆะเพราะไม่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามบทบัญญัติลาภมิควรได้(ฎ.2711/44,165/27) ผู้ซื้อกลัวผู้ขายไม่ยอมโอนที่ดินให้ จึงขอให้ผู้ขายไปทำสัญญาจำนองเป็นประกันเงินค่าที่ดินที่ชำระแล้ว โดยผู้ซื้อไม่คิดดอกเบี้ย หากผู้ขายบิดพลิ้วไม่ยอมโอนขายที่ดินตามสัญญา ก็ให้ผู้ซื้อเอาสัญญาจำนองมาฟ้องบังคับเรียกค่าที่ดินคืน สัญญาจะซื้อขายเป็นเจตนาแท้จริงของคู่สัญญา แต่สัญญาจำนองไม่ใช่นิติกรรมอำพราง หากเป็นนิติกรรมอีกอันหนึ่งที่คู่กรณีสมัครใจทำขึ้นไม่เป็นโมฆะ แต่ตราบใดที่ผู้ขายยังไม่ผิดสัญญาจะซื้อขาย ผู้ซื้อจะนำสัญญาจำนองมาฟ้องบังคับไม่ได้(ฎ.399/05)
      4.กรณีไม่ถือว่าเป็นนิติกรรมอำพรางเช่น คู่กรณีฝ่ายหนึ่งต้องการทำนิติกรรมอย่างหนึ่ง แต่อีกฝ่ายหนึ่งต้องการให้ทำนิติกรรมอีกอย่างหนึ่งเพื่อเป็นหลักประกันมากขึ้นหรือได้ประโยชน์มากกว่า คู่กรณีฝ่ายแรกยินยอมตกลงด้วย เป็นการเปลี่ยนไปทำนิติกรรมอีกอย่างโดยสมัครใจเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องนิติกรรมอำพราง นิติกรรมที่ทำขึ้นมีผลสมบูรณ์ เช่นจำเลยเจตนากู้ยืมเงินจากโจทก์เพื่อชำระค่าเช่าซื้อรถพิพาทที่ยังขาดอยู่ แต่เมื่อโจทก์ต้องการให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในรถพิพาทให้เป็นของโจทก์ก่อน แล้วให้จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถพิพาทกับโจทก์ จำเลยยินยอม โดยทำสัญญาเช่าซื้อรถไว้ จำเลยผ่อนชำระค่าเช่าซื้อหลายงวด ถือว่าคู่กรณีมีเจตนาทำสัญญาเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อไม่ใช่นิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงิน (ฎ.2881/37) หรือเดิมโจทก์เจตนากู้ยืมเงินจากจำเลย  ไม่ประสงค์ขายฝากที่พิพาท แต่เมื่อจำเลยให้โจทก์ทำสัญญาขายฝากที่พิพาท ซึ่งถ้าโจทก์ไม่ยอมทำสัญญาขายฝากจำเลยก็จะไม่ให้เงิน ในที่สุดโจทก์ตกลงทำสัญญาขายฝากให้ ถือว่าโจทก์ทำสัญญาขายฝากที่ดินด้วยความสมัครใจของโจทก์เอง สัญญาขายฝากหาใช่เกิดจากเจตนาลวงด้วยสมรู้กันระหว่างโจทก์และจำเลยที่ทำขึ้นเพื่ออำพรางการกู้ยืมเงินไม่ สัญญาขายฝากไม่ใช่นิติกรรมอำพรางมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย (ฎ.1275/23) เอกสารที่โจทก์อ้างว่าเป็นหลักฐานการจ่ายดอกเบี้ยให้บุตรชายของจำเลยทุกเดือน ไม่มีลายมือชื่อจำเลยเป็นผู้รับเงิน และไม่ปรากฏว่าผู้ที่ลงชื่อรับเงินได้รับเงินดังกล่าวแทนจำเลยหรือเป็น ผู้ได้รับมอบอำนาจให้รับเงินแทนจำเลย หรือมีการชำระทุกเดือน ฟังไม่ได้ว่าโจทก์ชำระดอกเบี้ยให้จำเลยทุกเดือน นอกจากนี้โจทก์เคยจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทให้คนอื่นมาแล้วครั้งหนึ่ง และมีการไถ่ถอนคืนแล้วนำมาจดทะเบียนขายฝากไว้แก่จำเลย แสดงว่าโจทก์ทราบเรื่องการขายฝากดี สัญญาขายฝากที่ดินพิพาทตามฟ้องที่โจทก์ทำกับจำเลย มิได้เป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาจำนอง(ฎ.2405/51) ท.เจตนายกที่ดินให้จำเลยแต่จดทะเบียนเป็นการขาย ถือว่าการจดทะเบียนนิติกรรมขายที่ดินเป็นการอำพรางนิติกรรมให้ นิติกรรมขายที่ดินย่อมเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กับคู่กรณีเป็นโมฆะตามมาตรา 155 วรรคหนึ่ง ส่วนนิติกรรมให้ต้องบังคับตามวรรคสอง การที่ ท.จดทะเบียนนิติกรรมขายมีวัตถุประสงค์ในการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเช่นเดียวกับนิติกรรมให้ ต่างกันเพียงว่ามีค่าตอบแทนแก่กันหรือไม่ ถือว่าการจดทะเบียนขายเป็นการทำหนังสือและจดทะเบียนสำหรับการให้ที่ถูกอำพรางด้วยโดยอนุโลม นิติกรรมการให้ที่ดินระหว่าง ท.กับจำเลยไม่เป็นโมฆะมีผลบังคับตามมาตรา 155 วรรคสอง(ฎ.6342/52)

************

ปพพ.การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉล

อ.พยัพ

กลฉ้อฉล

การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉล  (มาตรา 159,160)

                “การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะ
                การถูกกลฉ้อฉลที่จะเป็นโมฆียะตามวรรคหนึ่ง ต้องถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าว การอันเป็นโมฆียะนั้นคงมิได้กระทำขึ้น
                ถ้าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลโดยบุคคลภายนอก การแสดงเจตนานั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงกลฉ้อฉลนั้น”(มาตรา 159)
                การบอกล้างโมฆียกรรมเพราะถูกกลฉ้อฉลตามมาตรา 159 ห้ามมิให้ยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต” (มาตรา160)

      1. ตัวอย่างกลฉ้อฉลถึงขนาดตกเป็นโมฆียะ เช่น
             1.1  จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินให้โจทก์โดยชี้ที่ดินแปลงอื่นว่าเป็นที่ดินที่จะขายเพื่อปกปิดเรื่องที่ดินที่จะขายมีไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่าน เป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อ เมื่อที่ดินที่ซื้อขายมีประมาณ 16 ไร่ ส่วนที่มีเสาไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านใช้ประโยชน์ไม่ได้เกือบ 5 ไร่ โจทก์ต้องการซื้อที่ดินเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย กลฉ้อฉลจึงถึงขนาดที่ว่าหากจำเลยไม่ได้กระทำกลฉ้อฉลโจทก์จะไม่เข้าทำนิติกรรมกับจำเลย การแสดงเจตนาของโจทก์เป็นโมฆียะ  (ฎ.717/12,2044/40)
             1.2  ขายที่ดินเพราะหลงเชื่อว่าผู้ซื้อโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากบุตรผู้จะขายแล้ว หากผู้จะซื้อทราบว่ายังไม่มีการโอนเงินเข้าบัญชี การจดทะเบียนโอนที่ดินแก่ผู้ซื้อคงมิได้กระทำขึ้น สัญญาซื้อขายที่ดินเป็นโมฆียะตามมาตรา 159  บอกล้างได้สัญญาไม่เป็นโมฆะ(ฎ.7394/50)
             1.3 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับจำเลยโดยโจทก์ไม่เคยไปดูที่ดินที่ซื้อ จำเลยยืนยันว่าที่ดินมีเนื้อที่ตรงตาม ส.ค.1 ซึ่งไม่เป็นความจริง เป็นการหลอกลวงฉ้อฉลโจทก์ให้เข้าทำสัญญา หากไม่มีการหลอกลวงโจทก์จะไม่เข้าทำสัญญา ๆ เป็นโมฆียะ โจทก์บอกล้างได้ตามมาตรา 173(5)(ฎ.5975/40)
             1.4  ขายที่ดินมือเปล่าโดยหลอกลวงว่าเป็นที่ดินที่สามารถออกหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินได้ทั้งหมด ความจริงผู้ขายทราบแล้วว่าออกหนังสือสำคัญได้บางส่วน แม้ผู้ซื้อเป็นผู้ดำเนินการออกหนังสือสำคัญเองก็ตาม เป็นการทำนิติกรรมโดยถูกกลฉ้อฉล(ฎ.7211/49)
             1.5 จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินให้โจทก์ โดยข้อความในสัญญาระบุที่ดินไม่มีภาระผูกพัน ความจริงติดจำนองเท่ากับจำเลยปกปิดความจริงของการที่ดินมีภาระผูกพัน ถ้าโจทก์รู้ความจริงว่าที่ดินติดจำนองคงไม่ซื้อจากจำเลย โจทก์สำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ซึ่งเป็นวัตถุของสัญญาจะซื้อจะขายซึ่งเป็นสาระสำคัญ การแสดงเจตนาซื้อที่ดินเป็นโมฆียะ (ฎ.1299/20)
      2.กรณีไม่ถือว่าเป็นกลฉ้อฉลถึงขนาด เช่น
             2.1 จำเลยเจ้าของที่ดินให้เช่าที่พิพาทแก่ ป.และทำสัญญาจะขายที่ดินแก่โจทก์ ตามสัญญาเช่าผู้ให้เช่าที่ดินตกลงว่าหากจะขายทรัพย์สินที่เช่า ผู้ให้เช่าจะแจ้งผู้เช่าทราบล่วงหน้าและให้ผู้เช่าตกลงซื้อก่อน การที่จำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์ใช้อุบายหลอกลวงจำเลยด้วยการนำความเท็จมาแจ้งแก่จำเลยว่าผู้เช่ายินยอมให้ขายที่ดินได้นั้น แม้เป็นความจริงก็มิใช่กลฉ้อฉลอันถึงขนาดที่จะทำให้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆียะ เพราะตามสัญญาเช่าเป็นหน้าที่ผู้ให้เช่าจะต้องแจ้งให้ผู้เช่าทราบว่าจำเลยตกลงขายให้ผู้ใด เป็นเงินเท่าใด ไม่ใช่หน้าที่โจทก์ต้องแจ้งแก่จำเลย(ฎ.2853/25)
             2.2  จำเลยโฆษณาโอ้อวดคุณสมบัติของรถยนต์ที่ขายให้โจทก์ว่าเป็นรถยนต์รุ่นใหม่ ความจริงเป็นรถยนต์เก่า และอวดอ้างคุณสมบัติของรถยนต์ที่ไม่เป็นความจริงอีกหลายประการ โจทก์ตกลงซื้อโดยเชื่อคำโฆษณาของจำเลย การซื้อรถยนต์เกิดจากกลฉ้อฉลให้โจทก์สำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ที่ซื้อขายกัน แต่รถยนต์ยังเป็นยี่ห้อเดียวกับที่โจทก์ต้องการซื้อ กลฉ้อฉลของจำเลยมิได้ถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลเช่นนั้น โจทก์จะไม่ซื้อรถยนต์จากจำเลย โจทก์เพียงแต่ยอมรับข้อกำหนดอันหนักขึ้นเท่านั้น โจทก์มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้(ฎ.4045/34)****
      3. กลฉ้อฉลตาม 159 วรรคสามหมายถึงกรณีที่เป็นนิติกรรมสองฝ่าย ถ้าบุคคลภายนอกทำกลฉ้อฉลให้แสดงเจตนาทำนิติกรรมฝ่ายเดียวตกเป็นโมฆียะทันที แม้คู่กรณีอีกฝ่ายจะไม่รู้หรือควรจะได้รู้ กลฉ้อฉลนั้นก็ตาม เช่น บ.หลอกลวงโจทก์ว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้จำนองโจทก์ มอบอำนาจให้ บ.จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้สามีโจทก์ที่มีต่อธนาคาร โจทก์หลงเชื่อจึงจดทะเบียนปลดจำนองให้ การปลดจำนองจึงเกิดจากกลฉ้อฉลของ บ.และเนื่องจากการปลดจำนองเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียว แม้จำเลยจะไม่รู้หรือควรจะได้รู้ถึงกลฉ้อฉลก็ย่อมเป็นโมฆะ โจทก์มีสิทธิบอกล้างให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ (ฎ.5308/38)
      4.มาตรา 160 เป็นบทบัญญัติคุ้มครองบุคคลภายนอกผู้สุจริตไม่คำนึงว่าบุคคลภายนอกจะเสียค่าตอบแทนด้วยหรือไม่ หากฟังว่าบุคคลภายนอกไม่สุจริตแล้ว แม้จะเสียค่าตอบแทนก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง เช่น
             4.1 จำเลยที่ 1  ฉ้อโกงโจทก์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ได้แสดงเจตนาไปเพราะถูกจำเลยที่ 1 ใช้กลฉ้อฉล นิติกรรมการยกให้ที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1   เป็นโมฆียะ  เมื่อโจทก์ฟ้องคดีถือว่าโจทก์บอกล้างโมฆียะกรรม นิติกรรมเป็นโมฆะ จำเลยที่ 2 รับซื้อฝากไว้จากจำเลยที่ 1  โดยไม่สุจริตแม้จะเสียค่าตอบแทน โจทก์ยกการบอกล้างโมฆียกรรมเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 2  ได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 160(ฎ.7772/46)
             4.2  แม้จำเลยที่  1 หลอกลวงเป็นกลฉ้อฉลต่อโจทก์เป็นเหตุให้หลงเชื่อตกลงขายที่ดินให้จำเลยที่ 1 อันทำให้นิติกรรมเป็นโมฆียะ แต่ จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกผู้รับซื้อฝากที่ดินไว้จากจำเลยที่  1 โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน แม้โจทก์จะขอไถ่ถอนที่ดินคืนจากจำเลยที่  2 ในขณะยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอน จำเลยที่ 2 ไม่ยอมให้ไถ่ถอน โจทก์ไม่อาจยกเอาเหตุโมฆียะที่โจทก์ได้บอกล้างแล้วขึ้นต่อสู้จำเลยที่  2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ตาม ปพพ.มาตรา 160 ประกอบมาตรา 1329 (ฎ.1522/46)
             4.3  ซื้อที่ดินโดยสำคัญผิดในราคาที่ดินเพราะถูกนายหน้าหลอกลวง ซึ่งจำเลยรู้หรือควรรู้ถึงการหลอกลวง โจทก์สำคัญผิดเรื่องราคาทรัพย์สินที่ซื้อขาย แม้ไม่ใช่สำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม ตัวบุคคลซึ่งเป็นลูกหนี้หรือทรัพย์สินที่เป็นวัตถุแห่งนิติกรรม แต่ราคาทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกันย่อมมีความสำคัญพอกับตัวทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม ถือว่าโจทก์แสดงเจตนาทำนิติกรรมโดยสำคัญผิด ในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของนิติกรรมและเกิดจากการฉ้อฉลในเวลาเดียวกัน ถือว่านิติกรรมเป็นโมฆะ เพราะเป็นผลดีต่อผู้แสดงเจตนาทำนิติกรรมโดยบกพร่องยิ่งกว่าเป็นโมฆียะ(ฎ.663/45)
      5.การคุ้มครองบุคคลภายนอกเนื่องจากโมฆียกรรมกรณีอื่น เช่นคู่กรณีบกพร่องเรื่องความสามารถ สำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคลหรือทรัพย์หรือเพราะถูกข่มขู่ เหล่านี้ไม่อยู่ในบังคับมาตรา ๑๖๐  แต่เป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรา 1329   ซึ่งต่างจากมาตรา 160  คือบุคคลภายนอกจะได้รับความคุ้มครองนอกจากต้องกระทำโดยสุจริตแล้วยังต้องเสียค่าตอบแทนด้วย
     

กลฉ้อฉลเพื่อเหตุ (มาตรา 161)

      “ถ้ากลฉ้อฉลเป็นเพียงเหตุจูงใจให้คู่กรณีฝ่ายหนึ่งยอมรับข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่คู่กรณีอีกฝ่ายนั้นจะยอมรับโดยปกติ คู่กรณีฝ่ายนั้นจะบอกล้างการนั้นหาได้ไม่ แต่ชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากกลฉ้อฉลนั้นได้”
      1. กลฉ้อฉลเพื่อเหตุหมายถึงกลฉ้อฉลไม่ถึงขนาดที่จะไม่มีนิติกรรมเลย เพียงแต่จูงใจให้อีกฝ่ายยอมรับข้อกำหนดที่หนักขึ้นกว่าที่คู่ความฝ่ายนั้นจะยอมรับโดยปกติ คู่ความฝ่ายนั้นจะบอกล้างการนั้นไม่ได้ แต่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกลฉ้อฉลนั้นได้
      2. ตัวอย่างกลฉ้อฉลเพื่อเหตุเช่น
             2.1  ผู้ซื้อต้องการซื้อสินค้าอยู่แล้ว แต่ผู้ขายทำกลฉ้อฉลให้ผู้ซื้อสินค้าในราคาแพงกว่าความเป็นจริงเป็นกลฉ้อฉลเพื่อเหตุ บอกล้างไม่ได้แต่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนคือราคาที่เพิ่มขึ้น(ฎ.1559/24)
             2.2 โจทก์ซื้อที่ดินตามโฉนดที่ดินโดยหลงเชื่อตามที่จำเลยฉ้อฉลว่าที่ดินดังกล่าวติดแม่น้ำ ไม่มีที่ดินแปลงอื่นคั่น ซึ่งเป็นกลฉ้อฉลเพื่อเหตุคือเพียงจูงใจให้โจทก์ยอมรับเอาราคาที่ดินแพงกว่าที่จะยอมรับโดยปกติ โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากกลฉ้อฉล  ส่วนที่โจทก์ต้องเสียค่าทางภาระจำยอมเพื่อออกสู่ทางสาธารณะปรากฏว่าก่อนซื้อโจทก์ทราบแล้วว่าที่ดินไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ จึงมิใช่ผลโดยตรงจากกลฉ้อฉลของจำเลย เรียกค่าเสียหายในส่วนนี้จากจำเลยไม่ได้(ฎ.696/31)
             2.3  สัญญาจ้างก่อสร้างโดยผู้รับจ้างกำหนดราคาวัสดุก่อสร้างสูงเกินไปมาก มิใช่คิดการกำไรในทางการค้าปกติ โดยอาศัยผู้ว่าจ้างไม่มีความรู้ด้านก่อสร้างและความไว้วางใจ จึงเข้าทำสัญญาด้วย เป็นกลฉ้อฉลเพื่อเหตุ ผู้ว่าจ้างเรียกค่าจ้างที่ชำระไปเกินไปกว่าราคาว่าจ้างอันแท้จริงในขณะนั้นคืนได้(ฎ.6103/48)
             2.4  จำเลยเจ้าของที่ดินทำสัญญาให้ บ.เช่าที่ดิน และทำสัญญาขายที่ดินให้โจทก์ สัญญาเช่าระบุหากจะขายทรัพย์สินที่เช่า ผู้ให้เช่าต้องแจ้งผู้เช่าทราบล่วงหน้าและให้ผู้เช่าตกลงซื้อก่อน จำเลยอ้างว่าโจทก์หลอกลวงจำเลยโดยนำความเท็จมาแจ้งแก่จำเลยว่าผู้เช่ายินยอมให้ขายที่ดินพิพาทได้ แม้เป็นความจริงก็ไม่ใช่กลฉ้อฉลอันถึงขนาดจะทำให้สัญญาจะซื้อขายที่ดินเป็นโมฆียะ เพราะตามสัญญาเช่าเป็นหน้าที่จำเลยผู้ให้เช่าต้องแจ้งผู้เช่าทราบว่าตกลงขายให้ผู้ใด เป็นเงินเท่าใด ไม่ใช่หน้าที่โจทก์ต้องแจ้งแก่จำเลย(ฎ.2853/21)
             2.5  จำเลยโอ้อวดคุณสมบัติของรถยนต์ที่ขายให้โจทก์ ว่าเป็นรถยนต์รุ่นใหม่ ความจริงเป็นรถยนต์เก่าเคยเปลี่ยนสีหลายครั้ง และอวดอ้างคุณสมบัติของรถยนต์ที่ไม่เป็นความจริงอีกหลายอย่าง โจทก์ซื้อขายรถยนต์โดยเชื่อคำโฆษณาโอ้อวดของจำเลย การซื้อรถยนต์เกิดจากกลฉ้อฉลให้โจทก์สำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ที่ซื้อขาย แต่รถยนต์ยังเป็นยี่ห้อเดียวกับที่โจทก์ซื้อ กลฉ้อฉลของจำเลยยังไม่ถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลเช่นนั้น โจทก์จะไม่ซื้อรถยนต์จากจำเลย โจทก์เพียงแต่ยอมรับข้อกำหนดอันหนักขึ้นเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลย (ฎ.4049/34)

กลฉ้อฉลโดยการนิ่ง(มาตรา 162)

      ในนิติกรรมสองฝ่าย การที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งจงใจนิ่งเสีย ไม่แจ้งความจริงหรือคุณสมบัติอันคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งไม่รู้ การนั้นจะเป็นกลฉ้อฉลหากพิสูจน์ได้ว่าถ้ามิได้นิ่งเสียเช่นนั้น นิติกรรมนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น       1.การนิ่งเสียไม่ไขข้อความอันจะถือว่าเป็นกลฉ้อฉลนั้น ต้องเป็นกรณีที่ผู้นั้นมีหน้าที่ควรจะบอกความจริงดังกล่าวด้วย กรณีจะมีโครงการตัดถนนผ่านที่ดินพิพาทหรือไม่ ไม่ใช่หน้าที่ผู้จะซื้อที่ดินต้องบอกความจริง แต่เป็นหน้าที่ผู้จะขายที่ดินต้องขวนขวายแสวงหาความจริงเอง ดังนั้นการกระทำของผู้จะขายไม่เป็นกลฉ้อฉล(ฎ.1131/32)
      2. จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและอาคารกับโจทก์โดยระบุว่าอาคารพิพาทเป็นอาคาร 5 ชั้น ผิดจากแบบที่จำเลยขออนุญาตเพียง 4 ชั้น และที่ดินดังกล่าวอยู่ในบริเวณสำรวจเวนคืน แต่จำเลยปิดบังข้อเท็จจริง ที่ดินและอาคารมีราคาสูงถึง 15 ล้าน หากโจทก์ทราบหรือเพียงแต่สงสัยว่าจะมีการเวนคืน โจทก์ย่อมไม่ยอมทำสัญญากับจำเลยอย่างแน่นอน เพราะเงินค่าทดแทนที่จะได้รับการจากกการเวนคืนไม่คุ้มกับจำนวนเงินที่ต้องชำระให้จำเลย  การที่จำเลยปิดบังข้อเท็จจริงเรื่องการเวนคืนที่ดินและขออนุญาตสร้างอาคารเพียง 4 ชั้น  เป็นกลฉ้อฉลของจำเลย (ฎ.63/44)
      3. หน้าที่ต้องบอกความจริงอาจเป็นหน้าที่ตามกฎหมายเช่นทำสัญญาประกันชีวิต ผู้เอาประกันภัยต้องบอกหรือเปิดเผยความจริงให้ผู้รับประกันภัยทราบ มิฉะนั้นสัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆะ หรือจะเป็นหน้าที่ตามขนบธรรมเนียมประเพณีหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน(ฎ.2076/14)

การทำกลฉ้อฉลด้วยกันทั้งสองฝ่าย (มาตรา 163)

      คู่กรณีต่างกระทำการโดยกลฉ้อฉลด้วยกันทั้งสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะกล่าวอ้างกลฉ้อฉลของอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อบอกล้างการนั้น หรือเรียกค่าสินไหมทดแทนมิได้


*************

ปพพ. การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิด

อ.พยัพ

นิติกรรม

“การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิด”


สำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม (มาตรา 156)

     “การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ”
     1.การสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมหมายถึงผู้ทำนิติกรรมต้องการทำนิติกรรมอย่างหนึ่งแต่แท้จริงแล้วเป็นการทำนิติกรรมอีกอย่างหนึ่งหรือผู้ทำนิติกรรมได้ทำนิติกรรมอย่างหนึ่งโดยเข้าใจว่าเป็นนิติกรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของนิติกรรม ได้แก่ลักษณะของนิติกรรม,ตัวบุคคลที่เป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม,ทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เป็นต้น ความสำคัญผิดเหล่านี้มีผลทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆะ 
     2.การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในลักษณะแห่งนิติกรรม เช่นโอนที่ดินขายให้ผู้อื่นเพราะไม่รู้หนังสือ โดยมิได้มีเจตนาขายที่ดิน (ฎ.965/30)หรือโจทก์พิมพ์ลายนิ้วมือในเอกสารโดยเข้าใจว่าเป็นหนังสือออกโฉนด แต่เป็นหนังสือยอมแบ่งที่นาให้จำเลย สัญญายอมแบ่งที่นาเป็นโมฆะ  (ฎ.1542/98)หรือลงชื่อในใบมอบอำนาจโดยเข้าใจว่าเป็นใบมอบอำนาจให้เช่านา ความจริงเป็นใบมอบอำนาจให้ขายนา โดยไม่ได้ตั้งใจขายนา การมอบอำนาจเป็นโมฆะ (ฎ.828/08)แต่การจดทะเบียนโอนขายที่ดินเพราะหลงเชื่อว่ามีการโอนเงินค่าที่ดินเข้าบัญชีเงินฝากแล้ว เป็นการแสดงเจตนาทำนิติกรรมเพราะถูกกลฉ้อฉล เป็นโมฆียะตามมาตรา 159 บอกล้างได้ตามมาตรา 75(3)ไม่เป็นโมฆะตามมาตรา 156 (ฎ.7394/50)
     3.สำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรมหมายถึงผู้ทำนิติกรรมต้องการทำนิติกรรมกับคนหนึ่ง แต่กลับแสดงเจตนาทำนิติกรรมกับอีกคนหนึ่งโดยสำคัญผิดไปว่าเป็นคนเดียวกับที่ตนเจตนาจะทำนิติกรรมด้วย
          3.1 กรณีนิติกรรมที่คู่กรณีเป็นสาระสำคัญของนิติกรรม เช่น  จำเลยผู้เช่าตึกทำสัญญากับโจทก์ยอมออกจากตึกโดยเข้าใจว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตึกอยู่  โจทก์รู้าตึกไม่ใช่ของตน แต่ปกปิดความจริงไว้ หากจำเลยรู้ความจริงก็จะไม่ทำสัญญากับโจทก์ สัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะจำเลยสำคัญผิดในสิ่งสาระสำคัญจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากตึก(ฎ.2602/17) รับจำนองที่ดินจากผู้ปลอมชื่อเจ้าของที่ดิน การจำนองเป็นโมฆะ เป็นการสำคัญผิดในตัวบุคคลอันเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม ผู้รับจำนองไม่ได้ทรัพย์สินจากการจำนอง (ฎ.2049/92)  โจทก์ปกปิดความจริงโดยแอบอ้างว่าตนกระทำในฐานะผู้แทนบริษัท จำเลยหลงเชื่อเข้าทำสัญญาด้วย เป็นการแสดงเจตนาด้วยความสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม โดยมิได้เกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลย สัญญาเป็นโมฆะ จำเลยบอกเลิกสัญญากับโจทก์ไม่เป็นละเมิด โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย (ฎ.2705/25)
          3.2 กรณีตัวบุคคลไม่เป็นสาระสำคัญของนิติกรรม เช่น จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการชดใช้เงินคืนของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 เข้าใจถูกต้องที่จะยอมรับผิดต่อโจทก์แทนจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 เข้าใจผิดว่าจำเลยที่ 1 เป็นมารดาของ ท.มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในสัญญาค้ำประกัน  ความเข้าใจผิดของจำเลยที่ 2 มิใช่สำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งสัญญาค้ำประกัน ๆ ไม่ตกเป็นโมฆะ (ฎ.
707/35) หรือผู้ขายฝากต้องการเงินจากการขายฝากเท่านั้น ดังนั้น ผู้ซื้อฝากจะเป็นใครก็ได้ไม่ใช่สาระสำคัญ
แม้ผู้ขายฝากจะสำคัญผิดในตัวผู้ซื้อฝาก ไม่ทำให้สัญญาขายฝากตกเป็นโมฆะ(ฎ.1245/29)     4.สำคัญผิดในทรัพย์สินอันเป็นวัตถุของนิติกรรม เช่น การจะถือว่าการสำคัญผิดอันจะทำให้สัญญาซื้อขายตกเป็นโมฆะหรือไม่ต้องดูว่าคู่สัญญาถือเอาตัวทรัพย์เป็นสาระสำคัญหรือไม่ หากผู้ซื้อไม่ทักท้วงถึงยี่ห้อของสินค้าและครอบครองใช้ประโยชน์สินค้าตลอดมา มีการชำระค่าสินค้าไปบางส่วน พฤติการณ์เช่นนี้ไม่เป็นการสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมอันเป็นสาระสำคัญ(ฎ.7196/40) แต่ถ้าในการซื้อขายที่ดิน ผู้ขายชี้ให้ดูที่ดินแปลงอื่นแต่ส่งมอบอีกแปลงหนึ่ง ถือว่าทำสัญญาโดยสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญของนิติกรรม สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะ(ฎ.1710/2500) โจทก์ขายเครื่องทำน้ำแข็งถ้วยและเครื่องกรองน้ำโดยมิได้โต้แย้งเกี่ยวกับยี่ห้อของสินค้าทั้งได้ครอบครองและใช้ประโยชน์ตลอดมา รวมทั้งชำระค่าสินค้าถึงงวดที่ 9 จนโจทก์ฟ้องคดีนี้จำเลยจึงอ้างว่าเครื่องทำน้ำแข็งถ้วยและเครื่องกรองที่โจทก์ส่งมอบไม่ใช่ยี่ห้อนิวตั้นตามที่จำเลยตกลงซื้อ ไม่ถือว่าจำเลยตกลงซื้อเครื่องทำน้ำแข็งและเครื่องกรองน้ำโดยสำคัญผิดในทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมอันเป็นสาระสำคัญ อันเป็นเหตุให้สัญญาซื้อขายตกเป็นโมฆะไม่(ฎ.7196/40) ยกที่ดินทั้งแปลงให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ โดยสำคัญผิดว่าได้แบ่งแยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ไปแล้วคงเหลือแต่ส่วนที่เป็นถนนเท่านั้น การยกที่ดินเฉพาะที่พิพาทจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 156 เท่ากับที่พิพาทไม่เคยตกเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินมาก่อน ศาลจึงพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการยกที่ดินส่วนที่เป็นที่พิพาทและให้โอนกลับให้โจทก์ได้ไม่ขัดต่อมาตรา 1305(ฎ.6809/41,5007/42)หรือเจตนาจะขายที่ดินบางส่วนแต่ทำสัญญาขายที่ดินทั้งแปลงเนื่องจากจำเลยอาศัยความไม่รู้หนังสือและความสูงอายุและไม่รู้ระเบียบต่าง ๆ ของทางราชการเป็นความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม    (ฎ.199/38)ตกลงซื้อขายที่ดินโดยเข้าใจกันว่าเป็นที่ดินที่ซื้อขายและโอนกัน หรือออกโฉนดที่ดินได้ ความจริงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นสำคัญผิดในทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม ซึ่งเป็นสาระสำคัญของนิติกรรม เป็นโมฆะ โจทก์จำเลยปราศจากข้อผูกพันในอันต้องปฏิบัติตามสัญญาเสมือนหนึ่งไม่มีข้อสัญญาต่อกัน โจทก์ไม่อาจอาศัยผลบังคับของสัญญาข้อหนึ่งข้อใดที่ตกเป็นโมฆะแล้วมาริบเงินมัดจำหรือบังคับให้จำเลยชำระเงินมัดจำตามสัญญาได้ (ฎ.5007/42)
     5.ตัวอย่างที่ไม่ถือว่าสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม  เช่นอ้างว่าไม่เข้าใจถึงสาระสำคัญของการขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งติดจำนองมิใช่ความสำคัญผิดตามกฎหมายดังกล่าว เพราะการขายทอดตลาดทรัพย์สินโดยติดจำนองหรือไม่เป็นรายละเอียดในการขายทอดตลาด ซึ่งผู้ร้องทราบอยู่แล้วตามประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี นิติกรรมการซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดของผู้ร้องไม่เป็นโมฆะ หรือ จำเลยตกลงเอาประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุ แต่ระบุหลายเลขทะเบียนหมายเลขเครื่องยนต์และหมายเลขตัวถังคลาดเคลื่อนไป ถือว่าโจทก์จำเลยตกลงให้มีการเอาประกันภัยรถยนต์คันที่เกิดเหตุ ไม่ใช่เรื่องสำคัญผิดในทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม จำเลยต้องรับผิด      (ฎ.1008/43)
     6. การสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมกรณีอื่น ๆ  เช่นสำคัญผิดในราคาทรัพย์สินที่ซื้อขาย โดยโจทก์เจตนาขายที่ดินพิพาทราคา 52 ล้านบาท แต่ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินให้จำเลยราคา 4 ล้านบาท โดยจำเลยทราบแล้วว่าที่ดินราคามากกว่า 36 ล้าน เป็นการทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในเรื่องราคาทรัพย์ที่ตกลงเนื่องจากถูกนายหน้าหลอกลวง แม้มิใช่สำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมหรือตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีหรือทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมแต่ราคาทรัพย์ที่ตกลงซื้อขายย่อมมีความสำคัญมาพอกับตัวทรัพย์ซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม ถือว่าโจทก์แสดงเจตนาทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของนิติกรรมตาม ปพพ. 156 (ฎ.6103/45) สำคัญผิดว่าผู้เอาประกันชีวิตยังมีชีวิตอยู่ แต่ความจริงผู้เอาประกันภัยตายไปก่อนสนองรับคำเสนอขอประกันภัยแล้ว (ฎ.4196/33) หรือจดทะเบียนจำนองประกันเงินกู้ผิดคน เช่นมอบอำนาจให้พนักงานนำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองประกันเงินกู้โจทก์ ที่จะกู้จากจำเลย แต่กลับนำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองประกันเงินกู้คนอื่น (ฎ.4987/31) ลงชื่อในบันทึกข้อตกลงท้ายพินัยกรรมโดยเข้าใจว่าลงชื่อรับทราบพินัยกรรม ความจริงเป็นบันทึกข้อตกลงที่โจทก์จะไม่เอาทรัพย์สินอื่น ขอเอาบำนาญตกทอดอย่างเดียว ซึ่งไม่ตรงกับเจตนาโจทก์ เป็นการสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญของนิติกรรม ข้อตกลงเป็นโมฆะ โจทก์ใช้สิทธิในฐานะผู้รับพินัยกรรมตามเอาทรัพย์ที่ผู้ตายยกให้ตามพินัยกรรมได้(ฎ.603/20) โจทก์มอบอำนาจให้พนักงานสหกรณ์จำเลย นำที่ดินโจทก์ไปจดทะเบียนจำนองประกันเงินกู้ที่โจทก์กู้จากจำเลย พนักงานจำเลยนำที่ดินไปจำนองประกันหนี้คนอื่น นิติกรรมดังกล่าวเกิดจากโจทก์สำคัญผิดในสาระสำคัญของนิติกรรม เป็นโมฆะ(ฎ.4983/31) จำเลยหลอกลวงเอาที่ดินที่ตนไม่มีสิทธิมาหลอกขายให้โจทก์ ทำให้โจทก์เข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองสามารถโอนสิทธิและนำไปออกเอกสารสิทธิได้ เป็นการสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมสัญญา การซื้อขายที่ดินเป็นโมฆะตามมาตรา 156  ต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ จำเลยต้องคืนเงินให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5  ต่อปี(ฎ.8755/51)
     7.สำคัญผิดกับกลฉ้อฉล
          บางกรณีการแสดงเจตนาโดยความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมอาจเกิดจากกลฉ้อฉลของคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง จะเห็นได้ว่าการแสดงเจตนานั้นเกิดขึ้นจากความสำคัญผิดและกลฉ้อฉลในขณะเดียวกัน หากเป็นเรื่องกลฉ้อฉลการแสดงเจตนาก็ตกเป็นเพียงโมฆียะตาม 157 เท่านั้น แต่ถ้าปรับว่าเป็นเรื่องสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม นิติกรรมนั้นก็ตกเป็นโมฆะ กรณีเช่นนี้น่าจะต้องถือว่าเป็นกรณีความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตกเป็นโมฆะ เพราะเมื่อการแสดงเจตนานั้นตกเป็นโมฆะแล้วก็เสียเปล่ามาแต่ต้น ไม่ต้องพิจารณาว่าการแสดงเจตนานั้นเป็นโมฆียะอีก ซึ่งศาลฎีกาปรับว่าเป็นเรื่องความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของนิติกรรมทำให้นิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆะ เช่นหลอกเอาที่ดินที่ตนไม่มีสิทธิมาหลอกขายผู้ซื้อเข้าใจว่าผู้ขายมีสิทธิครอบครองสามารถโอนและออกเอกสารสิทธิได้เป็นการสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมสัญญา การซื้อขายที่ดินเป็นโมฆะ นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้ (ฎ.8755/51) ซื้อที่ดินคนละแปลงกับที่หลอกลวงให้หลงเชื่อ จึงรับซื้อฝากไว้โดยสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม ๆ ตกเป็นโมฆะ ตาม ปพพ.มาตรา 156 (ฎ.504-5/43) หรือโจทก์เจตนาจะขายที่ดินแปลงหนึ่ง จำเลยให้โจทก์ลงชื่อในกระดาษแล้วไปทำสัญญาขายที่ดินอีกแปลงหนึ่ง การที่โจทก์ยอมเซ็นชื่อในสัญญาซื้อขายให้จำเลยโดยสำคัญผิดเพราะอ่านหนังสือไม่ออกและเชื่อจำเลย เป็นสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ(ฎ.843/01)

สำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สิน(มาตรา 157)
     การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สินเป็นโมฆียะ
     ความสำคัญผิดตามวรรคหนึ่งต้องเป็นความสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์ซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ ซึ่งหากมิได้มีความสำคัญผิดดังกล่าวการอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น”
     1. ต้องเป็นความสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์ซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ
          1.1 กรณีไม่ถือว่าเป็นสาระสำคัญเช่น สำคัญผิดในฐานะทางกฎหมาย เช่นจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงแบ่งมรดกของผู้ตายกับโจทก์ โดยจำเลยทราบว่าโจทก์เป็นภริยาเจ้ามรดกอยู่กินด้วยกัน 16-17 ปี แม้จำเลยจะทำสัญญาโดยไม่ทราบว่าโจทก์เป็นภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดก เนื่องจากไม่ได้จดทะเบียนสมรส ก็เป็นเพียงสำคัญผิดในฐานะทางกฎหมายของโจทก์ (ฎ.40/16) หรือทำสัญญาประนีประนอมฯ ขายที่ดินคืนโจทก์เพราะเข้าใจว่าโจทก์เป็นทายาทเจ้ามรดก  (ฎ.2259/26)
          1.2 กรณีถือว่าเป็นสาระสำคัญเช่น  เช่าซื้อรถยนต์ที่มีหมายเลขตัวถังและหมายเลขเครื่องยนต์ไม่ตรงกับใบอนุญาตทะเบียนรถยนต์คันที่เช่าซื้อ เป็นความสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญตามมาตรา 157 ไม่ใช่สำคัญผิดในตัวทรัพย์ตามมาตรา 156 สัญญาเช่าซื้อตกเป็นโมฆียะ ไม่ใช่โมฆะ สัญญาเช่าซื้อใช้บังคับได้ ไม่เป็นโมฆะ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว จำเลยผู้เช่าซื้อจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้โจทก์ในสภาพใช้การได้ดี (ฎ.568/41)ผู้ซื้อรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดโดยสำคัญผิดว่าเป็นห้องชุดที่อยู่ชั้นบนสุดตามความประสงค์แต่แรก แต่ความจริงเป็นชั้นที่ 27 ซึ่งมิใช่ชั้นบนสุด เป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ซึ่งเป็นสาระสำคัญต่อมาโจทก์ตกลงโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดชั้น 26,27 คืนจำเลย และจำเลยตกลงเปลี่ยนแปลงโดยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดชั้น 28และ 29 ให้โจทก์เป็นการแลกเปลี่ยนตาม ปพพ.518 (ฎ.3942/53) ซื้อที่ดินโดยหลงเชื่อตามที่ผู้ขายหลอกลวงว่าที่ดินอยู่ติดถนน (ฎ.257/37)หรือซื้อที่ดินที่ถูกจำกัดสิทธิในการก่อสร้างโดยผู้ขายปกปิดไม่แจ้งให้ทราบ (ฎ.2349/31)ซื้อที่ดินหรือทำสัญญาเช่าที่ดินโดยไม่รู้ว่าถูกเวนคืน หรือซื้อที่ดินโดยไม่รู้ว่ามีคำสั่งห้ามโอน (ฎ.1955/38,2471/41,1443/39)หรือซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 614 และ 616 โดยเข้าใจว่าอาคารตั้งอยู่ในที่ดินดังกล่าว แต่ภายหลังอาคารตั้งอยู่ในโฉนดเลขที่ 615 ซึ่งเป็นของบุคคลภายนอก ผู้ซื้อจึงไม่อาจได้กรรมสิทธ์ในทรัพย์สินที่ซื้อทั้งหมดได้ เป็นการสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ สัญญาซื้อขายตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 157 วรรคหนึ่งและวรรคสอง เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญามีผลเท่ากับบอกล้างโมฆียะแล้ว ถือว่าสัญญาเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก โจทก์จำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยโจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนเงินมัดจำที่รับไปพร้อมดอกเบี้ย แต่ไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายอื่นใดระหว่างกันได้ (ฎ.8056/40)จำเลยแจ้งปีเกิดโดยมีเจตนาปกปิดความจริง เป็นเหตุให้ผู้ว่าจ้างสำคัญผิดในคุณสมบัติของจำเลย เข้าใจว่าจำเลยอายุไม่เกิน 60 ปี  ซึ่งเข้ามาเป็นพนักงานได้ โจทก์ยอมรับจำเลยเป็นพนักงานในขณะจำเลยอายุเกิน 60 ปี  ขาดคุณสมบัติที่จะเข้ามาเป็นพนักงานของโจทก์ ถือว่าโจทก์สำคัญผิดในคุณสมบัติของจำเลยซึ่งถือว่าเป็นสาระสำคัญ(ฎ.3595/31)
     2. ตัวอย่างการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สินอันเป็นสาระสำคัญมีผลทำให้นิติกรรมเป็นโมฆียะ เช่น  ที่ดินจำเลยถูกจำกัดสิทธิการปลูกสร้างเพราะถูกสายไฟแรงสูงผ่าน จำเลยขายฝากแก่โจทก์ในราคาสูงโดยโจทก์ไม่ทราบ (ฎ.1034/18) จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินให้โจทก์โดยมีข้อสัญญาว่าที่ดินไม่มีภาระติดพันใด ๆ ความจริงที่ดินติดจำนองแก่ผู้อื่น ถ้าโจทก์รู้ความจริงก็จะไม่ทำสัญญากับจำเลย (ฎ.๑๒๒๙/๒๐) จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินแก่โจทก์โดยทราบว่าโจทก์จะซื้อที่พิพาทไปเพื่อสร้างโรงงาน เมื่อจำเลยทราบว่าที่พิพาทอยู่ในเขตประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องห้ามก่อสร้างอาคาร แต่ปกปิดข้อเท็จจริง (ฎ.2349/31) ทำสัญญาเช่าซื้อหรือประกันภัยรถยนต์เก่า แต่ตรวจพบภายหลังว่าหมายเลขตัวถังและหมายเลขเครื่องยนต์มีการปลอมแปลงหรือผิดพลาดไม่ตรงกับหมายเลขตามใบอนุญาตทะเบียนรถยนต์ (ฎ.568/41)

         

ความสำคัญผิดเกิดจากการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง (มาตรา 158)

          ถ้าความสำคัญผิดตาม 156 หรือ 157 เกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้แสดงเจตนา บุคคลนั้นจะถือเอาความสำคัญผิดมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้
      1. กรณีที่ถือว่าสำคัญผิดเกิดโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เช่นประกาศขายทอดตลาดที่ดินโดยเจ้าพนักงานบังคับคดี ระบุรายละเอียดของที่ดินโดยชัดแจ้งและเปิดเผยต่อประชาชนทั่วไป ผู้เข้าประมูลมีโอกาสตรวจสอบความถูกต้องได้ ผู้ซื้อที่ดินอ้างว่าตนสำคัญผิดเกี่ยวกับที่ตั้งของที่ดินจึงเข้าประมูลซื้อ ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ซื้อ ๆ ไม่อาจอ้างความสำคัญผิดดังกล่าวมาเป็นประโยชน์แก่ตนได้(ฎ.3360-3410/43)หรือ ผู้ซื้อทอดตลาดทรัพย์อ้างสำคัญผิดในราคาทรัพย์ที่ประมูลเกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง (ฎ.7058/43)ลงชื่อในหนังสือค้ำประกันซึ่งยังไม่มีการกรอกข้อความพร้อมมอบสำเนาทะเบียบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการให้โจทก์เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นการย่อมเสี่ยงภัยในกระทำของตนเองอย่างร้ายแรง แม้ ศ.กับพวกจะนำไปใช้เป็นหลักฐานในการค้ำประกันจำเลยต่อโจทก์ โดยกรอกข้อความผิดไปจากเจตนาของจำเลยก็เป็นผลสืบเนื่องจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลย ๆ ไม่อาจอ้างความสำคัญผิดมาใช้ประโยชน์แก่ตนตาม ปพพ.158 จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน(ฎ.357/48)
     ๒.กรณีไม่ถือว่าสำคัญโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เช่นลงลายมือชื่อในสัญญาเพราะอ่านหนังสือไม่ออกและเชื่อใจอีกฝ่ายหนึ่ง(ฎ.843/01)


*****************