วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2556

ปพพ. การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิด

อ.พยัพ

นิติกรรม

“การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิด”


สำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม (มาตรา 156)

     “การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ”
     1.การสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมหมายถึงผู้ทำนิติกรรมต้องการทำนิติกรรมอย่างหนึ่งแต่แท้จริงแล้วเป็นการทำนิติกรรมอีกอย่างหนึ่งหรือผู้ทำนิติกรรมได้ทำนิติกรรมอย่างหนึ่งโดยเข้าใจว่าเป็นนิติกรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของนิติกรรม ได้แก่ลักษณะของนิติกรรม,ตัวบุคคลที่เป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม,ทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เป็นต้น ความสำคัญผิดเหล่านี้มีผลทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆะ 
     2.การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในลักษณะแห่งนิติกรรม เช่นโอนที่ดินขายให้ผู้อื่นเพราะไม่รู้หนังสือ โดยมิได้มีเจตนาขายที่ดิน (ฎ.965/30)หรือโจทก์พิมพ์ลายนิ้วมือในเอกสารโดยเข้าใจว่าเป็นหนังสือออกโฉนด แต่เป็นหนังสือยอมแบ่งที่นาให้จำเลย สัญญายอมแบ่งที่นาเป็นโมฆะ  (ฎ.1542/98)หรือลงชื่อในใบมอบอำนาจโดยเข้าใจว่าเป็นใบมอบอำนาจให้เช่านา ความจริงเป็นใบมอบอำนาจให้ขายนา โดยไม่ได้ตั้งใจขายนา การมอบอำนาจเป็นโมฆะ (ฎ.828/08)แต่การจดทะเบียนโอนขายที่ดินเพราะหลงเชื่อว่ามีการโอนเงินค่าที่ดินเข้าบัญชีเงินฝากแล้ว เป็นการแสดงเจตนาทำนิติกรรมเพราะถูกกลฉ้อฉล เป็นโมฆียะตามมาตรา 159 บอกล้างได้ตามมาตรา 75(3)ไม่เป็นโมฆะตามมาตรา 156 (ฎ.7394/50)
     3.สำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรมหมายถึงผู้ทำนิติกรรมต้องการทำนิติกรรมกับคนหนึ่ง แต่กลับแสดงเจตนาทำนิติกรรมกับอีกคนหนึ่งโดยสำคัญผิดไปว่าเป็นคนเดียวกับที่ตนเจตนาจะทำนิติกรรมด้วย
          3.1 กรณีนิติกรรมที่คู่กรณีเป็นสาระสำคัญของนิติกรรม เช่น  จำเลยผู้เช่าตึกทำสัญญากับโจทก์ยอมออกจากตึกโดยเข้าใจว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตึกอยู่  โจทก์รู้าตึกไม่ใช่ของตน แต่ปกปิดความจริงไว้ หากจำเลยรู้ความจริงก็จะไม่ทำสัญญากับโจทก์ สัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะจำเลยสำคัญผิดในสิ่งสาระสำคัญจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากตึก(ฎ.2602/17) รับจำนองที่ดินจากผู้ปลอมชื่อเจ้าของที่ดิน การจำนองเป็นโมฆะ เป็นการสำคัญผิดในตัวบุคคลอันเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม ผู้รับจำนองไม่ได้ทรัพย์สินจากการจำนอง (ฎ.2049/92)  โจทก์ปกปิดความจริงโดยแอบอ้างว่าตนกระทำในฐานะผู้แทนบริษัท จำเลยหลงเชื่อเข้าทำสัญญาด้วย เป็นการแสดงเจตนาด้วยความสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม โดยมิได้เกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลย สัญญาเป็นโมฆะ จำเลยบอกเลิกสัญญากับโจทก์ไม่เป็นละเมิด โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย (ฎ.2705/25)
          3.2 กรณีตัวบุคคลไม่เป็นสาระสำคัญของนิติกรรม เช่น จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการชดใช้เงินคืนของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 เข้าใจถูกต้องที่จะยอมรับผิดต่อโจทก์แทนจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 เข้าใจผิดว่าจำเลยที่ 1 เป็นมารดาของ ท.มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในสัญญาค้ำประกัน  ความเข้าใจผิดของจำเลยที่ 2 มิใช่สำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งสัญญาค้ำประกัน ๆ ไม่ตกเป็นโมฆะ (ฎ.
707/35) หรือผู้ขายฝากต้องการเงินจากการขายฝากเท่านั้น ดังนั้น ผู้ซื้อฝากจะเป็นใครก็ได้ไม่ใช่สาระสำคัญ
แม้ผู้ขายฝากจะสำคัญผิดในตัวผู้ซื้อฝาก ไม่ทำให้สัญญาขายฝากตกเป็นโมฆะ(ฎ.1245/29)     4.สำคัญผิดในทรัพย์สินอันเป็นวัตถุของนิติกรรม เช่น การจะถือว่าการสำคัญผิดอันจะทำให้สัญญาซื้อขายตกเป็นโมฆะหรือไม่ต้องดูว่าคู่สัญญาถือเอาตัวทรัพย์เป็นสาระสำคัญหรือไม่ หากผู้ซื้อไม่ทักท้วงถึงยี่ห้อของสินค้าและครอบครองใช้ประโยชน์สินค้าตลอดมา มีการชำระค่าสินค้าไปบางส่วน พฤติการณ์เช่นนี้ไม่เป็นการสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมอันเป็นสาระสำคัญ(ฎ.7196/40) แต่ถ้าในการซื้อขายที่ดิน ผู้ขายชี้ให้ดูที่ดินแปลงอื่นแต่ส่งมอบอีกแปลงหนึ่ง ถือว่าทำสัญญาโดยสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญของนิติกรรม สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะ(ฎ.1710/2500) โจทก์ขายเครื่องทำน้ำแข็งถ้วยและเครื่องกรองน้ำโดยมิได้โต้แย้งเกี่ยวกับยี่ห้อของสินค้าทั้งได้ครอบครองและใช้ประโยชน์ตลอดมา รวมทั้งชำระค่าสินค้าถึงงวดที่ 9 จนโจทก์ฟ้องคดีนี้จำเลยจึงอ้างว่าเครื่องทำน้ำแข็งถ้วยและเครื่องกรองที่โจทก์ส่งมอบไม่ใช่ยี่ห้อนิวตั้นตามที่จำเลยตกลงซื้อ ไม่ถือว่าจำเลยตกลงซื้อเครื่องทำน้ำแข็งและเครื่องกรองน้ำโดยสำคัญผิดในทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมอันเป็นสาระสำคัญ อันเป็นเหตุให้สัญญาซื้อขายตกเป็นโมฆะไม่(ฎ.7196/40) ยกที่ดินทั้งแปลงให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ โดยสำคัญผิดว่าได้แบ่งแยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ไปแล้วคงเหลือแต่ส่วนที่เป็นถนนเท่านั้น การยกที่ดินเฉพาะที่พิพาทจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 156 เท่ากับที่พิพาทไม่เคยตกเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินมาก่อน ศาลจึงพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการยกที่ดินส่วนที่เป็นที่พิพาทและให้โอนกลับให้โจทก์ได้ไม่ขัดต่อมาตรา 1305(ฎ.6809/41,5007/42)หรือเจตนาจะขายที่ดินบางส่วนแต่ทำสัญญาขายที่ดินทั้งแปลงเนื่องจากจำเลยอาศัยความไม่รู้หนังสือและความสูงอายุและไม่รู้ระเบียบต่าง ๆ ของทางราชการเป็นความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม    (ฎ.199/38)ตกลงซื้อขายที่ดินโดยเข้าใจกันว่าเป็นที่ดินที่ซื้อขายและโอนกัน หรือออกโฉนดที่ดินได้ ความจริงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นสำคัญผิดในทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม ซึ่งเป็นสาระสำคัญของนิติกรรม เป็นโมฆะ โจทก์จำเลยปราศจากข้อผูกพันในอันต้องปฏิบัติตามสัญญาเสมือนหนึ่งไม่มีข้อสัญญาต่อกัน โจทก์ไม่อาจอาศัยผลบังคับของสัญญาข้อหนึ่งข้อใดที่ตกเป็นโมฆะแล้วมาริบเงินมัดจำหรือบังคับให้จำเลยชำระเงินมัดจำตามสัญญาได้ (ฎ.5007/42)
     5.ตัวอย่างที่ไม่ถือว่าสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม  เช่นอ้างว่าไม่เข้าใจถึงสาระสำคัญของการขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งติดจำนองมิใช่ความสำคัญผิดตามกฎหมายดังกล่าว เพราะการขายทอดตลาดทรัพย์สินโดยติดจำนองหรือไม่เป็นรายละเอียดในการขายทอดตลาด ซึ่งผู้ร้องทราบอยู่แล้วตามประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี นิติกรรมการซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดของผู้ร้องไม่เป็นโมฆะ หรือ จำเลยตกลงเอาประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุ แต่ระบุหลายเลขทะเบียนหมายเลขเครื่องยนต์และหมายเลขตัวถังคลาดเคลื่อนไป ถือว่าโจทก์จำเลยตกลงให้มีการเอาประกันภัยรถยนต์คันที่เกิดเหตุ ไม่ใช่เรื่องสำคัญผิดในทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม จำเลยต้องรับผิด      (ฎ.1008/43)
     6. การสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมกรณีอื่น ๆ  เช่นสำคัญผิดในราคาทรัพย์สินที่ซื้อขาย โดยโจทก์เจตนาขายที่ดินพิพาทราคา 52 ล้านบาท แต่ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินให้จำเลยราคา 4 ล้านบาท โดยจำเลยทราบแล้วว่าที่ดินราคามากกว่า 36 ล้าน เป็นการทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในเรื่องราคาทรัพย์ที่ตกลงเนื่องจากถูกนายหน้าหลอกลวง แม้มิใช่สำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมหรือตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีหรือทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมแต่ราคาทรัพย์ที่ตกลงซื้อขายย่อมมีความสำคัญมาพอกับตัวทรัพย์ซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม ถือว่าโจทก์แสดงเจตนาทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของนิติกรรมตาม ปพพ. 156 (ฎ.6103/45) สำคัญผิดว่าผู้เอาประกันชีวิตยังมีชีวิตอยู่ แต่ความจริงผู้เอาประกันภัยตายไปก่อนสนองรับคำเสนอขอประกันภัยแล้ว (ฎ.4196/33) หรือจดทะเบียนจำนองประกันเงินกู้ผิดคน เช่นมอบอำนาจให้พนักงานนำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองประกันเงินกู้โจทก์ ที่จะกู้จากจำเลย แต่กลับนำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองประกันเงินกู้คนอื่น (ฎ.4987/31) ลงชื่อในบันทึกข้อตกลงท้ายพินัยกรรมโดยเข้าใจว่าลงชื่อรับทราบพินัยกรรม ความจริงเป็นบันทึกข้อตกลงที่โจทก์จะไม่เอาทรัพย์สินอื่น ขอเอาบำนาญตกทอดอย่างเดียว ซึ่งไม่ตรงกับเจตนาโจทก์ เป็นการสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญของนิติกรรม ข้อตกลงเป็นโมฆะ โจทก์ใช้สิทธิในฐานะผู้รับพินัยกรรมตามเอาทรัพย์ที่ผู้ตายยกให้ตามพินัยกรรมได้(ฎ.603/20) โจทก์มอบอำนาจให้พนักงานสหกรณ์จำเลย นำที่ดินโจทก์ไปจดทะเบียนจำนองประกันเงินกู้ที่โจทก์กู้จากจำเลย พนักงานจำเลยนำที่ดินไปจำนองประกันหนี้คนอื่น นิติกรรมดังกล่าวเกิดจากโจทก์สำคัญผิดในสาระสำคัญของนิติกรรม เป็นโมฆะ(ฎ.4983/31) จำเลยหลอกลวงเอาที่ดินที่ตนไม่มีสิทธิมาหลอกขายให้โจทก์ ทำให้โจทก์เข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองสามารถโอนสิทธิและนำไปออกเอกสารสิทธิได้ เป็นการสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมสัญญา การซื้อขายที่ดินเป็นโมฆะตามมาตรา 156  ต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ จำเลยต้องคืนเงินให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5  ต่อปี(ฎ.8755/51)
     7.สำคัญผิดกับกลฉ้อฉล
          บางกรณีการแสดงเจตนาโดยความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมอาจเกิดจากกลฉ้อฉลของคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง จะเห็นได้ว่าการแสดงเจตนานั้นเกิดขึ้นจากความสำคัญผิดและกลฉ้อฉลในขณะเดียวกัน หากเป็นเรื่องกลฉ้อฉลการแสดงเจตนาก็ตกเป็นเพียงโมฆียะตาม 157 เท่านั้น แต่ถ้าปรับว่าเป็นเรื่องสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม นิติกรรมนั้นก็ตกเป็นโมฆะ กรณีเช่นนี้น่าจะต้องถือว่าเป็นกรณีความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตกเป็นโมฆะ เพราะเมื่อการแสดงเจตนานั้นตกเป็นโมฆะแล้วก็เสียเปล่ามาแต่ต้น ไม่ต้องพิจารณาว่าการแสดงเจตนานั้นเป็นโมฆียะอีก ซึ่งศาลฎีกาปรับว่าเป็นเรื่องความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของนิติกรรมทำให้นิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆะ เช่นหลอกเอาที่ดินที่ตนไม่มีสิทธิมาหลอกขายผู้ซื้อเข้าใจว่าผู้ขายมีสิทธิครอบครองสามารถโอนและออกเอกสารสิทธิได้เป็นการสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมสัญญา การซื้อขายที่ดินเป็นโมฆะ นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้ (ฎ.8755/51) ซื้อที่ดินคนละแปลงกับที่หลอกลวงให้หลงเชื่อ จึงรับซื้อฝากไว้โดยสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม ๆ ตกเป็นโมฆะ ตาม ปพพ.มาตรา 156 (ฎ.504-5/43) หรือโจทก์เจตนาจะขายที่ดินแปลงหนึ่ง จำเลยให้โจทก์ลงชื่อในกระดาษแล้วไปทำสัญญาขายที่ดินอีกแปลงหนึ่ง การที่โจทก์ยอมเซ็นชื่อในสัญญาซื้อขายให้จำเลยโดยสำคัญผิดเพราะอ่านหนังสือไม่ออกและเชื่อจำเลย เป็นสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ(ฎ.843/01)

สำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สิน(มาตรา 157)
     การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สินเป็นโมฆียะ
     ความสำคัญผิดตามวรรคหนึ่งต้องเป็นความสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์ซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ ซึ่งหากมิได้มีความสำคัญผิดดังกล่าวการอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น”
     1. ต้องเป็นความสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์ซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ
          1.1 กรณีไม่ถือว่าเป็นสาระสำคัญเช่น สำคัญผิดในฐานะทางกฎหมาย เช่นจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงแบ่งมรดกของผู้ตายกับโจทก์ โดยจำเลยทราบว่าโจทก์เป็นภริยาเจ้ามรดกอยู่กินด้วยกัน 16-17 ปี แม้จำเลยจะทำสัญญาโดยไม่ทราบว่าโจทก์เป็นภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดก เนื่องจากไม่ได้จดทะเบียนสมรส ก็เป็นเพียงสำคัญผิดในฐานะทางกฎหมายของโจทก์ (ฎ.40/16) หรือทำสัญญาประนีประนอมฯ ขายที่ดินคืนโจทก์เพราะเข้าใจว่าโจทก์เป็นทายาทเจ้ามรดก  (ฎ.2259/26)
          1.2 กรณีถือว่าเป็นสาระสำคัญเช่น  เช่าซื้อรถยนต์ที่มีหมายเลขตัวถังและหมายเลขเครื่องยนต์ไม่ตรงกับใบอนุญาตทะเบียนรถยนต์คันที่เช่าซื้อ เป็นความสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญตามมาตรา 157 ไม่ใช่สำคัญผิดในตัวทรัพย์ตามมาตรา 156 สัญญาเช่าซื้อตกเป็นโมฆียะ ไม่ใช่โมฆะ สัญญาเช่าซื้อใช้บังคับได้ ไม่เป็นโมฆะ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว จำเลยผู้เช่าซื้อจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้โจทก์ในสภาพใช้การได้ดี (ฎ.568/41)ผู้ซื้อรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดโดยสำคัญผิดว่าเป็นห้องชุดที่อยู่ชั้นบนสุดตามความประสงค์แต่แรก แต่ความจริงเป็นชั้นที่ 27 ซึ่งมิใช่ชั้นบนสุด เป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ซึ่งเป็นสาระสำคัญต่อมาโจทก์ตกลงโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดชั้น 26,27 คืนจำเลย และจำเลยตกลงเปลี่ยนแปลงโดยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดชั้น 28และ 29 ให้โจทก์เป็นการแลกเปลี่ยนตาม ปพพ.518 (ฎ.3942/53) ซื้อที่ดินโดยหลงเชื่อตามที่ผู้ขายหลอกลวงว่าที่ดินอยู่ติดถนน (ฎ.257/37)หรือซื้อที่ดินที่ถูกจำกัดสิทธิในการก่อสร้างโดยผู้ขายปกปิดไม่แจ้งให้ทราบ (ฎ.2349/31)ซื้อที่ดินหรือทำสัญญาเช่าที่ดินโดยไม่รู้ว่าถูกเวนคืน หรือซื้อที่ดินโดยไม่รู้ว่ามีคำสั่งห้ามโอน (ฎ.1955/38,2471/41,1443/39)หรือซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 614 และ 616 โดยเข้าใจว่าอาคารตั้งอยู่ในที่ดินดังกล่าว แต่ภายหลังอาคารตั้งอยู่ในโฉนดเลขที่ 615 ซึ่งเป็นของบุคคลภายนอก ผู้ซื้อจึงไม่อาจได้กรรมสิทธ์ในทรัพย์สินที่ซื้อทั้งหมดได้ เป็นการสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ สัญญาซื้อขายตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 157 วรรคหนึ่งและวรรคสอง เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญามีผลเท่ากับบอกล้างโมฆียะแล้ว ถือว่าสัญญาเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก โจทก์จำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยโจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนเงินมัดจำที่รับไปพร้อมดอกเบี้ย แต่ไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายอื่นใดระหว่างกันได้ (ฎ.8056/40)จำเลยแจ้งปีเกิดโดยมีเจตนาปกปิดความจริง เป็นเหตุให้ผู้ว่าจ้างสำคัญผิดในคุณสมบัติของจำเลย เข้าใจว่าจำเลยอายุไม่เกิน 60 ปี  ซึ่งเข้ามาเป็นพนักงานได้ โจทก์ยอมรับจำเลยเป็นพนักงานในขณะจำเลยอายุเกิน 60 ปี  ขาดคุณสมบัติที่จะเข้ามาเป็นพนักงานของโจทก์ ถือว่าโจทก์สำคัญผิดในคุณสมบัติของจำเลยซึ่งถือว่าเป็นสาระสำคัญ(ฎ.3595/31)
     2. ตัวอย่างการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สินอันเป็นสาระสำคัญมีผลทำให้นิติกรรมเป็นโมฆียะ เช่น  ที่ดินจำเลยถูกจำกัดสิทธิการปลูกสร้างเพราะถูกสายไฟแรงสูงผ่าน จำเลยขายฝากแก่โจทก์ในราคาสูงโดยโจทก์ไม่ทราบ (ฎ.1034/18) จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินให้โจทก์โดยมีข้อสัญญาว่าที่ดินไม่มีภาระติดพันใด ๆ ความจริงที่ดินติดจำนองแก่ผู้อื่น ถ้าโจทก์รู้ความจริงก็จะไม่ทำสัญญากับจำเลย (ฎ.๑๒๒๙/๒๐) จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินแก่โจทก์โดยทราบว่าโจทก์จะซื้อที่พิพาทไปเพื่อสร้างโรงงาน เมื่อจำเลยทราบว่าที่พิพาทอยู่ในเขตประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องห้ามก่อสร้างอาคาร แต่ปกปิดข้อเท็จจริง (ฎ.2349/31) ทำสัญญาเช่าซื้อหรือประกันภัยรถยนต์เก่า แต่ตรวจพบภายหลังว่าหมายเลขตัวถังและหมายเลขเครื่องยนต์มีการปลอมแปลงหรือผิดพลาดไม่ตรงกับหมายเลขตามใบอนุญาตทะเบียนรถยนต์ (ฎ.568/41)

         

ความสำคัญผิดเกิดจากการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง (มาตรา 158)

          ถ้าความสำคัญผิดตาม 156 หรือ 157 เกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้แสดงเจตนา บุคคลนั้นจะถือเอาความสำคัญผิดมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้
      1. กรณีที่ถือว่าสำคัญผิดเกิดโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เช่นประกาศขายทอดตลาดที่ดินโดยเจ้าพนักงานบังคับคดี ระบุรายละเอียดของที่ดินโดยชัดแจ้งและเปิดเผยต่อประชาชนทั่วไป ผู้เข้าประมูลมีโอกาสตรวจสอบความถูกต้องได้ ผู้ซื้อที่ดินอ้างว่าตนสำคัญผิดเกี่ยวกับที่ตั้งของที่ดินจึงเข้าประมูลซื้อ ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ซื้อ ๆ ไม่อาจอ้างความสำคัญผิดดังกล่าวมาเป็นประโยชน์แก่ตนได้(ฎ.3360-3410/43)หรือ ผู้ซื้อทอดตลาดทรัพย์อ้างสำคัญผิดในราคาทรัพย์ที่ประมูลเกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง (ฎ.7058/43)ลงชื่อในหนังสือค้ำประกันซึ่งยังไม่มีการกรอกข้อความพร้อมมอบสำเนาทะเบียบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการให้โจทก์เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นการย่อมเสี่ยงภัยในกระทำของตนเองอย่างร้ายแรง แม้ ศ.กับพวกจะนำไปใช้เป็นหลักฐานในการค้ำประกันจำเลยต่อโจทก์ โดยกรอกข้อความผิดไปจากเจตนาของจำเลยก็เป็นผลสืบเนื่องจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลย ๆ ไม่อาจอ้างความสำคัญผิดมาใช้ประโยชน์แก่ตนตาม ปพพ.158 จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน(ฎ.357/48)
     ๒.กรณีไม่ถือว่าสำคัญโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เช่นลงลายมือชื่อในสัญญาเพราะอ่านหนังสือไม่ออกและเชื่อใจอีกฝ่ายหนึ่ง(ฎ.843/01)


*****************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น