วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2556

ปพพ.หลักการแสดงเจตนา

อ.พยัพ

การแสดงเจตนา

เจตนาซ่อนเร้น(มาตรา 154)

      การแสดงเจตนาใด แม้ในใจจริงผู้แสดงจะมิได้เจตนาให้ตนต้องผูกพันตามที่ได้แสดงเจตนาออกมาก็ตาม การแสดงเจตนานั้นไม่เป็นโมฆะ เว้นแต่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนเร้นอยู่ในใจของผู้แสดงนั้น”
      1. เจตนาซ่อนเร้นถือเจตนาที่จะแสดงออกมาเป็นสำคัญ แม้ไม่ตรงกับเจตนาภายในต้องผูกพันตามเจตนาที่แสดงออกมา  แต่ถ้าคู่กรณีอีกฝ่ายรู้ถึงเจตนาที่ซ่อนอยู่ภายใน การแสดงเจตนาเป็นโมฆะ เช่น แม้ในใจจำเลยที่ 3 เจตนาจะค้ำประกันจำเลยที่ 1 ภายในกำหนด 120 วัน ไม่เจตนาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประกาศประกวดราคาก็ตาม แต่ตามสัญญาค้ำประกันไม่กำหนดระยะเวลาค้ำประกันไว้เพียง 120 วัน จำเลยที่ 3 กลับทำสัญญาค้ำประกันโดยแสดงเจตนาว่าจะไม่เพิกถอนการค้ำประกันในระหว่างเวลาที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประกาศประกวดราคาโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์รู้ถึงเจตนาในใจของจำเลยที่ 3 ว่าต้องการผูกพันเพียง 120 วัน จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประกวดราคาที่ได้แสดงเจตนาออกมา(ฎ.967/38)
      2.ถ้าคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งรู้ถึงเจตนาซ่อนเร้นของผู้แสดงเจตนา การแสดงเจตนาเป็นโมฆะ เช่นจำเลยเสนอขายของตามใบประกวดราคาแก่โจทก์โดยคำนวณราคาผิดไป 1 จุดทศนิยม ซึ่งเจ้าหน้าที่ของโจทก์บันทึกเสนอผู้แทนโจทก์ว่าไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ เพราะต่ำกว่าราคาประเมิน 10 เท่า ถือว่าโจทก์ทราบความสำคัญผิดของจำเลย  (ฎ.527/05)
      3. หากคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นนิติบุคคล  ผู้แทนนิติบุคคลทราบเจตนาที่แท้จริงของฝ่ายที่แสดงเจตนาถือว่านิติบุคคลทราบแล้ว เว้นแต่กรณีที่ประโยชน์ส่วนได้เสียของนิติบุคคลนั้นขัดกับผู้แทนนิติบุคคล ผู้แทนนิติบุคคลไม่มีอำนาจเป็นผู้แทนได้เนื่องจาก ปพพ.มาตรา 74 กำหนดห้ามไว้  ความรู้ของผู้แทนนิติบุคคลไม่ถือว่าเป็นความรู้ของนิติบุคคลด้วย การแสดงเจตนาไม่เป็นโมฆะ เช่นจำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินธนาคาร ที่จริงแล้วจำเลยไม่ได้กู้เองแต่แสดงเจตนาว่าจะกู้เอง ความจริงทำสัญญาแทนประธานกรรมการโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการธนาคารโจทก์ด้วย จำเลยไม่ต้องการผูกพันตามสัญญากู้เลย จำเลยต้องผูกพันตามที่แสดงเจตนาออกไป แม้ประธานกรรมการโจทก์จะทราบถึงเจตนาในใจของจำเลยว่าจำเลยไม่ต้องการผูกพันตามที่แสดงออกมา จะถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลรู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของจำเลยไม่ได้ (ฎ.580/09)***
      4. การนำสืบพยานหลักฐาน การแสดงเจตนาซ่อนเร้น แม้เป็นการยากที่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งทราบเจตนาอันแท้จริง จึงอาจพิสูจน์กันได้ด้วยพยานหลักฐาน ซึ่งการกล่าวอ้างนิติกรรมเป็นโมฆะเพราะมิใช่เจตนาอันแท้จริง แม้นิติกรรมนั้นมีกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือหรือให้มีหลักฐานเป็นหนังสือ ก็ไม่ต้องห้ามนำสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้าง เพราะเป็นการนำสืบว่านิติกรรมหรือหนี้ไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ พ.มาตรา 94
      5.ตัวอย่างการแสดงเจตนาซ่อนเร้นตามแนวฎีกา เช่น ทำหนังสือแสดงเจตนาสละสิทธิครอบครองยอมคืนที่ดินมือเปล่าให้เขาแล้ว ภายหลังจะอ้างว่าไม่มีความตั้งใจเช่นนั้นโดยเพียงต้องการลวงให้เขาหายจากวิกลจริตไม่ได้(ฎ.503/97) สละความตั้งใจเดิมที่จะเป็นผู้ค้ำประกัน โดยยอมให้เป็นผู้กู้ต้องรับผิดฐานเป็นผู้กู้ (ฎ.791/01)


การแสดงเจตนาลวง(มาตรา 155)
      การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นไม่ได้
      1. การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง หมายถึงคู่กรณีทั้งสองฝ่ายไม่ประสงค์จะให้การแสดงเจตนาที่แสดงออกมานั้นมีผลผูกพันกันตามกฎหมายอย่างแท้จริง แต่กระทำไปเพื่อให้บุคคลอื่นเข้าใจว่ามีนิติกรรมเกิดขึ้นจริง โดยมีความประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง การแสดงเจตนาดังกล่าวตกเป็นโมฆะ
      2.ตัวอย่างการแสดงเจตนาลวง เช่นทำสัญญาโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อเพื่อนำไปแสดงขอบัตรติดรถยนต์ผ่านทางเท่านั้น โดยมิได้มีเจตนาโอนสิทธิการเช่าซื้อกันจริง การโอนจึงเป็นเพียงการแสดงเจตนาลวง เป็นโมฆะ(ฎ. 6886/42) กู้เงินธนาคารแต่ไม่มีทรัพย์เป็นประกัน จึงขอยืมที่ดินของผู้อื่นไปจดทะเบียนจำนองกับธนาคาร โดยให้เจ้าของจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้ผู้อื่น โดยไม่มีการซื้อขายกันจริง สัญญาซื้อขายเป็นสัญญาที่เกิดจาการแสดงเจตนาลวงของคู่กรณี เป็นโมฆะ ผู้รับโอนต้องโอนที่ดินคืน สำหรับผู้รับจำนองถ้ากระทำการโดยสุจริตย่อมได้รับความคุ้มครอง (ฎ.379/36) โจทก์โอนที่พิพาทให้จำเลยที่ 1 โดยแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กับจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน และโอนให้หลังจากที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 โอนที่พิพาทคืนแก่โจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 2 ทราบเรื่องนี้ดี แสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่สุจริต โจทก์ยกขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 2 ได้ตาม ปพพ.มาตรา 155 โจทก์ยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาท(ฎ.1096-7/33) สมคบกันทำสัญญาขายหรือยกทรัพย์สินให้ผู้อื่น เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้ถูกยึดทรัพย์นำไปชำระหนี้ตามคำพิพากษา การแสดงเจตนาขายหรือยกทรัพย์เป็นเจตนาลวงเป็นโมฆะ ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างตาม ปพพ.มาตรา 172 ก็ได้ โจทก์ทั้งสองชอบที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนเสียเมื่อใดก็ได้(ฎ.4056/33) กรณีนี้ไม่เป็นการเพิกถอนการฉ้อฉล จึงฟ้องขอให้เพิกถอนเมื่อใดก็ได้ ไม่อยู่ในบังคับ 1 ปี ตาม ปพพ.มาตรา 240(ฎ.2041/47)  สามีภริยาจดทะเบียนหย่าโดยมิได้มีเจตนาหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา แต่ทำไปเพื่อลวงผู้อื่นเกี่ยวกับทรัพย์สินของสามีภริยานั่นเอง แล้วภริยาทำนิติกรรมขายที่ดินอันเป็นสินเดิมให้สามีเพื่อกันบุตรของภริยาที่เกิดแต่สามีคนเก่า แต่ความจริงไม่มีการซื้อขาย นิติกรรมซื้อขายเป็นโมฆะ (ฎ.863-4/96) ก.ทำหนังสือยกที่ดินให้ ข.โดยไม่ตั้งใจยกให้โดยเสน่หา แต่ทำเพื่อให้ ข.นำไปจำนองกับสหกรณ์แล้วเอาเงินมาให้ ก.ใช้ นิติกรรมเป็นโมฆะ มีผลทำให้ที่ดินพิพาทไม่เคยตกเป็นของ ข. แต่ยังเป็นของ ก.ตลอดมา ข.ตายก่อนจำนองสหกรณ์ ที่ดินดังกล่าวไม่ใช่มรดก ข. ทายาท ข.ขอแบ่งไม่ได้ (ฎ.1016/13) โจทก์ต้องการจำนองที่ดินแต่จำนองด้วยตนเองไม่ได้เงินมาก จึงจดทะเบียนขายฝากให้จำเลย แล้วให้จำเลยนำไปจำนองกับบริษัท ท.ซึ่งเป็นผู้จัดการและเป็นญาติกับจำเลยนำเงินมาให้โจทก์     นิติกรรมขายฝากเป็นเพียงเจตนาลวงเพื่อให้จำเลยนำที่ดินพิพาทซึ่งไปจำนองเท่านั้นเป็นโมฆะ ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ๆ เรียกคืนจากจำเลยฐานลาภมิควรได้ เงินที่โจทก์ได้มาเป็นเงินผู้รับจำนองซึ่งเป็นเจ้าหนี้โดยตรง(ฎ.132/24) จำเลยจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้ผู้ร้อง ภายหลังผู้ร้องทราบว่าจำเลยถูกโจทก์ฟ้องและกำลังถูกศาลบังคับชำระหนี้โจทก์ เป็นพฤติการณ์ที่สมคบกันเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้ถูกยึดใช้หนี้โจทก์ การจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้กันระหว่างจำเลยกับผู้ร้องเป็นการแสดงเจตนาลวงเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับตามมาตรา 155 (ฎ.4050/33) โจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินโดยไม่มีเจตนาแท้จริงผูกพันกันเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันระหว่างโจทก์จำเลย เพื่อให้โจทก์นำที่ดินและบ้านไปจำนองเป็นประกันหนี้กู้ยืมต่อธนาคาร และให้จำเลยทำสัญญาเช่าเพื่อเป็นประกันการผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคาร สัญญาซื้อขายและสัญญาเช่าเป็นโมฆะ(ฎ.2952/54)
      3.กรณีไม่ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาลวง เช่น การดำเนินธุรกิจที่เคยปฏิบัติกันมาตามพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาขายรถยนต์แก่โจทก์เพื่อนำไปให้ ส.เช่าซื้ออีกต่อหนึ่ง เป็นวิธีทำธุรกิจอย่างหนึ่ง ซึ่งจำเลยและโจทก์ปฏิบัติต่อกันมาหลายปี แม้โจทก์และจำเลยที่ 1 ไมใช่เจ้าของรถยนต์ขณะทำสัญญาซื้อขายรถยนต์คันดังกล่าว จำเลยที่ 1 ต้องผูกพันตามสัญญาที่แสดงเจตนาออกมานั้น จะอ้างเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับโจทก์เพื่อหลอกผู้อื่นให้หลงผิดไม่ได้ เพราะผู้ขายไม่จำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินในขณะซื้อขาย (ฎ.3763/42)จำเลยไม่เป็นหนี้โจทก์ เมื่อจำเลยแสดงเจตนาโดยทำบันทึกข้อตกลงให้โจทก์ระบุว่าจำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามเช็คที่ฟ้องจำนวน 400,000 บาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหนี้ 1,000,000 บาท ที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่ บันทึกดังกล่าวไม่ระบุเลยว่าจำเลยทำแทนบริษัท ช.ที่จำเลยเป็นกรรมการอยู่ แสดงว่าการที่จำเลยทำบันทึกข้อตกลงเป็นส่วนตัวยอมผูกพันตนเข้าเป็นลูกหนี้ของโจทก์เพื่อชำระหนี้จำนวน 1,000,000 บาท อีกคนหนึ่ง เมื่อโจทก์ไม่รู้เจตนาอันซ่อนเร้นอยู่ในใจจำเลยว่าจำระหนี้แก่โจทก์เพียง 400,000 บาท ส่วนหนี้ที่เหลือจำเลยมีเจตนาให้มีผลผูกพันบริษัท ช.อันเป็นเหตุให้การแสดงเจตนาเป็นโมฆะตามมาตรา 154 จำเลยต้องผูกพันตามที่แสดงเจตนาออกมา(ฎ.7602/53)
      4. การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้ตกเป็นโมฆะ
             4.1 ะยกขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นไม่ได้ (ม.155 วรรคแรก) บุคคลภายนอกที่จะได้รับความคุ้มครองนั้นต้องทั้งสุจริตและเสียหายด้วย แต่การที่บุคคลภายนอกรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยเจตนาลวงยังรับซื้อไว้ ถือว่าไม่สุจริตไม่ได้รับความคุ้มครองจะอ้างว่าต้องเสียหายเพราะการชำระราคาไปไม่ได้ (ฎ.1704-1705/15) เมื่อบุคคลภายนอกได้รับความคุ้มครองแล้ว ผู้ที่ได้รับโอนทรัพย์จากบุคคลภายนอกย่อมได้รับความคุ้มครองเช่นกัน (ฎ.1156/45)
            4.2  นิติกรรมอันเกิดจากการแสดงเจตนาลวง เป็นโมฆะ จึงไม่ต้องฟ้องขอให้เพิกถอน(ฎ.๖๔๘/๑๓)
      5.เจตนาลวงกับเจตนาซ่อนเร้นและการฉ้อฉล
             5.1 การแสดงเจตนาลวงเป็นการแสดงเจตนาซ่อนเร้นตามมาตรา 154  ด้วย เพราะเป็นการแสดงเจตนาที่ไม่จริงเช่นเดียวกัน แต่การแสดงเจตนาซ่อนเร้นเป็นการลวงเฉพาะคู่กรณี ส่วนการแสดงเจตนาลวงเป็นการสมรู้ระหว่างคู่กรณีเพื่อลวงคนอื่น กฎหมายจึงคุ้มครองเฉพาะบุคคลภายนอก ระหว่างคู่กรณีซึ่งร่วมรู้ด้วยกันไม่อาจถือเอาประโยชน์จากการแสดงเจตนาลวงนั้นได้
             5.2 การแสดงเจตนาลวงไม่ใช่การหลอกลวงให้เขาแสดงเจตนาทำนิติกรรมซึ่งเป็นการฉ้อฉล(มาตรา 159-163) เพราะการแสดงเจตนาลวงผู้แสดงเจตนาไม่มุ่งจะผูกนิติสัมพันธ์ ส่วนกลฉ้อฉลนั้นผู้แสดงเจตนามุ่งจะผูกนิติสัมพันธ์ แต่การแสดงเจตนาวิปริตไปเพราะการหลอกลวง  ดังนั้นการแสดงเจตนาอันได้มาเพราะกลฉ้อฉล นิติกรรมจึงเป็นเพียงโมฆียะ ไม่เป็นโมฆะเหมือนการแสดงเจตนาลวง
             5.3 การแสดงเจตนาลวงไม่ใช่การฉ้อฉลเจ้าหนี้ตามมาตรา 237 ซึ่งเป็นการทำนิติกรรมของลูกหนี้อันได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เช่นเขียวโอนที่ดินแก่ขาวเพื่อหลบหนีเจ้าหนี้ ถ้าโอนกันหลอก ๆ เป็นการแสดงเจตนาลวง นิติกรรมเป็นโมฆะ ถ้าโอนจริง ๆ แต่เป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบเป็นการฉ้อฉลเจ้าหนี้ นิติกรรมไม่เป็นโมฆะ เจ้าหนี้มีสิทธิเพียงฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนได้ เว้นแต่บุคคลผู้ได้ลาภงอกนั้นมิได้รู้ถึงข้อความจริง อันเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่กรณีให้โดยเสน่หา ลูกหนี้รู้ฝ่ายเดียวก็พอ

นิติกรรมอำพราง(มาตรา 155 วรรคสอง)

      การแสดงเจตนาลวงตามมาตรา 155 วรรคหนึ่ง กระทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น ต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพราง
      1. นิติกรรมอำพราง
             1.1 ต้องมีนิติกรรมเรื่องเดียวกัน 2 นิติกรรมคือนิติกรรมที่แสดงออกมาโดยเปิดเผย ไม่ตรงกับเจตนาที่แท้จริงของคู่กรณี ซึ่งคู่กรณีไม่ประสงค์ให้มีผลบังคับตามกฎหมาย เป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้ระหว่างคู่กรณี ตกเป็นโมฆะตาม 155 วรรคหนึ่ง ส่วนอีกนิติกรรมหนึ่งเป็นนิติกรรมที่ไม่เปิดเผยเรียกว่า"นิติกรรมที่ถูกอำพราง" ซึ่งตรงกับเจตนาที่แท้จริงของคู่กรณีและคู่กรณีประสงค์ให้ใช้บังคับระหว่างกันเอง ต้องบังคับตามนิติกรรมที่ถูกอำพราง  แต่กรณีสัญญาให้ที่ดินพิพาทมีข้อตกลงเพิ่มเติมว่าผู้รับต้องไปแบ่งแยกที่ดินโอนให้พี่น้องทุกคนภายหลัง ไม่ใช่นิติกรรมอำพรางเพราะมีนิติกรรมเดียวคือสัญญาให้ แต่เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตาม ปพพ.374(ฎ.11228/53)
             1.2 นิติกรรมทั้งสอง ต้องกระทำโดยคู่ความเดียวกัน หากนิติกรรมทั้งสองกระทำโดยคู่กรณีต่างกันเช่นสัญญาเช่าช่วงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และสัญญาเช่าช่วงระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 แม้จะทำวันเดียวกัน แต่เมื่อกรณีเป็นคนละคู่กันจึงไม่เป็นนิติกรรมอำพราง(ฎ.5236/42)
      2. นิติกรรมที่มีผลบังคับระหว่างคู่กรณีคือนิติกรรมที่ถูกอำพราง ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพราง คือหากนิติกรรมที่ถูกอำพรางมีแบบหรือหลักเกณฑ์อย่างไร ต้องเป็นไปตามนั้น นิติกรรมที่ถูกอำพรางกฎหมายบังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วยเช่นทำสัญญาจ้างทำนาเพื่ออำพรางสัญญาเช่านา เมื่อสัญญาเช่านาไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงฟ้องร้องบังคับคดีตามสัญญาเช่านาไม่ได้  (ฎ.1038-1039/09ป) นิติกรรมที่ถูกอำพรางต้องทำตามแบบที่กฎหมายบังคับเช่นจำนองอำพรางซื้อขายที่ดินพิพาท แต่สัญญาซื้อขายไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน สัญญาซื้อขายซึ่งเป็นสัญญาที่ถูกอำพรางตกเป็นโมฆะ(ฎ.950/25)จดทะเบียนโอนโฉนดขายให้เพราะเสียค่าธรรมเนียมถูกกว่ายกให้ ความจริงเป็นการยกให้ ต้องบังคับตามนิติกรรมอำพรางการยกให้ไม่เป็นโมฆะ ผู้โอนเรียกที่ดินคืนไม่ได้(ฎ.796-7/96). เจตนาแลกเปลี่ยนที่นากัน แต่ทำสัญญาขายให้ตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำเพื่อสะดวกในการโอนและเสียค่าธรรมเนียมถูก เป็นนิติกรรมอำพราง ต้องบังคับตามสัญญาแลกเปลี่ยน(ฎ.1269/97) จำเลยกู้เงินโจทก์โดยมอบรถยนต์ให้โจทก์ยึดถือว่าเป็นประกัน โดยทำหนังสือการรับเงินค่าขายรถยนต์มอบให้โจทก์เป็นหลักฐาน นิติกรรมการซื้อขายรถยนต์เป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้เงินเป็นโมฆะ ต้องบังคับตามนิติกรรมการกู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ตาม 155 วรรคสอง ถือว่าหนังสือการรับเงินค่าขายรถยนต์เป็นหลักฐานการกู้ยืม(ฎ.4696/36)
      3.ตัวอย่างนิติกรรมอำพราง เช่น ทำสัญญาขายฝากหรือสัญญาซื้อขายอำพรางการกู้เงิน สัญญาขายฝากหรือสัญญาซื้อขายเป็นหลักฐานการกู้ได้ เป็นเพราะสัญญาขายฝากหรือสัญญาซื้อขายมีข้อความระบุเกี่ยวกับการรับเงินอันเป็นสาระสำคัญของสัญญากู้เงิน(ฎ.862-863/20)หรือทำสัญญาขายฝากเพื่ออำพรางสัญญาจำนองหรือสัญญากู้ยืมเงิน เป็นการกู้เงินโดยมอบที่ดินให้ยึดถือเป็นประกันและถือว่าเอกสารการขายฝากเป็นสัญญากู้เงิน คู่กรณีต้องคืนเงินและที่ดินแก่กัน แต่การขายฝากจะเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินได้ต่อเมื่อสัญญาขายฝากทำขึ้นเพื่ออำพรางการกู้ยืมเงินเท่านั้น หากเจ้าหนี้ฟ้องว่าลูกหนี้ยืมเงินไปโดยอ้างสัญญาขายฝากเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงิน ต้องบรรยายให้เห็นว่าสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมเงิน ถ้าเพียงบรรยายว่าจำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์ไปและทำสัญญาขายฝากไว้เป็นหลักฐาน การกู้ยืมเงินนี้สัญญาขายฝากยังเป็นสัญญาขายฝาก การกู้ยืมเงินที่โจทก์ฟ้องไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือ (ฎ.3010/25)ถ้าวัตถุประสงค์ของสัญญาที่อำพรางและถูกอำพรางเป็นเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์เช่นเดียวกัน เช่นจดทะเบียนขายเพื่ออำพรางการให้หรือแลกเปลี่ยนอำพรางการขาย ถือว่าสัญญาที่ถูกอำพรางทำตามแบบแล้ว จึงบังคับตามนิติกรรมที่ถูกอำพรางได้(ฎ.1871/49) ทำพินัยกรรมเพื่ออำพรางการซื้อขายที่ดินซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอนพินัยกรรมเป็นโมฆะตาม 155 วรรคหนึ่ง สัญญาซื้อขายที่ดินตกเป็นโมฆะตาม 150(ฎ.125/38) ทำสัญญาจำนองอำพรางสัญญาซื้อขายที่ดินภายในกำหนดห้ามโอน ทั้งสัญญาจำนองและสัญญาซื้อขายตกเป็นโมฆะ(1136/40)ทำสัญญาซื้อขายที่ดินอำพรางสัญญาขายฝากที่ดิน มีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบของสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น ไม่ถือเป็นแบบของสัญญาขายฝากด้วย สัญญาซื้อขายที่ดินตกเป็นโมฆะเพราะเป็นเจตนาลวง ส่วนสัญญาขายฝากตกเป็นโมฆะเพราะไม่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามบทบัญญัติลาภมิควรได้(ฎ.2711/44,165/27) ผู้ซื้อกลัวผู้ขายไม่ยอมโอนที่ดินให้ จึงขอให้ผู้ขายไปทำสัญญาจำนองเป็นประกันเงินค่าที่ดินที่ชำระแล้ว โดยผู้ซื้อไม่คิดดอกเบี้ย หากผู้ขายบิดพลิ้วไม่ยอมโอนขายที่ดินตามสัญญา ก็ให้ผู้ซื้อเอาสัญญาจำนองมาฟ้องบังคับเรียกค่าที่ดินคืน สัญญาจะซื้อขายเป็นเจตนาแท้จริงของคู่สัญญา แต่สัญญาจำนองไม่ใช่นิติกรรมอำพราง หากเป็นนิติกรรมอีกอันหนึ่งที่คู่กรณีสมัครใจทำขึ้นไม่เป็นโมฆะ แต่ตราบใดที่ผู้ขายยังไม่ผิดสัญญาจะซื้อขาย ผู้ซื้อจะนำสัญญาจำนองมาฟ้องบังคับไม่ได้(ฎ.399/05)
      4.กรณีไม่ถือว่าเป็นนิติกรรมอำพรางเช่น คู่กรณีฝ่ายหนึ่งต้องการทำนิติกรรมอย่างหนึ่ง แต่อีกฝ่ายหนึ่งต้องการให้ทำนิติกรรมอีกอย่างหนึ่งเพื่อเป็นหลักประกันมากขึ้นหรือได้ประโยชน์มากกว่า คู่กรณีฝ่ายแรกยินยอมตกลงด้วย เป็นการเปลี่ยนไปทำนิติกรรมอีกอย่างโดยสมัครใจเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องนิติกรรมอำพราง นิติกรรมที่ทำขึ้นมีผลสมบูรณ์ เช่นจำเลยเจตนากู้ยืมเงินจากโจทก์เพื่อชำระค่าเช่าซื้อรถพิพาทที่ยังขาดอยู่ แต่เมื่อโจทก์ต้องการให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในรถพิพาทให้เป็นของโจทก์ก่อน แล้วให้จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถพิพาทกับโจทก์ จำเลยยินยอม โดยทำสัญญาเช่าซื้อรถไว้ จำเลยผ่อนชำระค่าเช่าซื้อหลายงวด ถือว่าคู่กรณีมีเจตนาทำสัญญาเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อไม่ใช่นิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงิน (ฎ.2881/37) หรือเดิมโจทก์เจตนากู้ยืมเงินจากจำเลย  ไม่ประสงค์ขายฝากที่พิพาท แต่เมื่อจำเลยให้โจทก์ทำสัญญาขายฝากที่พิพาท ซึ่งถ้าโจทก์ไม่ยอมทำสัญญาขายฝากจำเลยก็จะไม่ให้เงิน ในที่สุดโจทก์ตกลงทำสัญญาขายฝากให้ ถือว่าโจทก์ทำสัญญาขายฝากที่ดินด้วยความสมัครใจของโจทก์เอง สัญญาขายฝากหาใช่เกิดจากเจตนาลวงด้วยสมรู้กันระหว่างโจทก์และจำเลยที่ทำขึ้นเพื่ออำพรางการกู้ยืมเงินไม่ สัญญาขายฝากไม่ใช่นิติกรรมอำพรางมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย (ฎ.1275/23) เอกสารที่โจทก์อ้างว่าเป็นหลักฐานการจ่ายดอกเบี้ยให้บุตรชายของจำเลยทุกเดือน ไม่มีลายมือชื่อจำเลยเป็นผู้รับเงิน และไม่ปรากฏว่าผู้ที่ลงชื่อรับเงินได้รับเงินดังกล่าวแทนจำเลยหรือเป็น ผู้ได้รับมอบอำนาจให้รับเงินแทนจำเลย หรือมีการชำระทุกเดือน ฟังไม่ได้ว่าโจทก์ชำระดอกเบี้ยให้จำเลยทุกเดือน นอกจากนี้โจทก์เคยจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทให้คนอื่นมาแล้วครั้งหนึ่ง และมีการไถ่ถอนคืนแล้วนำมาจดทะเบียนขายฝากไว้แก่จำเลย แสดงว่าโจทก์ทราบเรื่องการขายฝากดี สัญญาขายฝากที่ดินพิพาทตามฟ้องที่โจทก์ทำกับจำเลย มิได้เป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาจำนอง(ฎ.2405/51) ท.เจตนายกที่ดินให้จำเลยแต่จดทะเบียนเป็นการขาย ถือว่าการจดทะเบียนนิติกรรมขายที่ดินเป็นการอำพรางนิติกรรมให้ นิติกรรมขายที่ดินย่อมเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กับคู่กรณีเป็นโมฆะตามมาตรา 155 วรรคหนึ่ง ส่วนนิติกรรมให้ต้องบังคับตามวรรคสอง การที่ ท.จดทะเบียนนิติกรรมขายมีวัตถุประสงค์ในการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเช่นเดียวกับนิติกรรมให้ ต่างกันเพียงว่ามีค่าตอบแทนแก่กันหรือไม่ ถือว่าการจดทะเบียนขายเป็นการทำหนังสือและจดทะเบียนสำหรับการให้ที่ถูกอำพรางด้วยโดยอนุโลม นิติกรรมการให้ที่ดินระหว่าง ท.กับจำเลยไม่เป็นโมฆะมีผลบังคับตามมาตรา 155 วรรคสอง(ฎ.6342/52)

************

5 ความคิดเห็น:

  1. เสนอสินเชื่อ

    ผมนาย Excel ให้ถูกต้องตามกฎหมาย, ผู้ให้กู้เงินที่มีชื่อเสียง เราให้ออกเงินกู้ให้กับธุรกิจของผู้ชายและผู้หญิงที่กำลังเข้าสู่การทำธุรกรรมทางธุรกิจที่เราให้ออกเงินให้กู้ยืมระยะยาวสำหรับ 3-20 ปีสูงสุดที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ 2% ในการนี้คุณเช่นกันสามารถบอกให้เราทราบจำนวนเงินที่คุณต้องเป็นเงินกู้ เงินกู้จะได้รับออกมาในปอนด์และบาทสูงสุดที่เราให้เป็น 500,000,000 ทั้งในปอนด์และบาทและต่ำสุดที่£ 5,000 และ USD $ ดังนั้นถ้าจริงๆคุณมีความสนใจสามารถติดต่อเราได้ที่ (excelservices.managementonline@gmail.com) สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กับวิธีการที่จะได้รับเงินกู้

    ตอบลบ
  2. บทความดีมากครับ ขอชมเชย ถ้ามีเพิ่มเติมจะแวะมาอ่านอีกครับ เก่งจริงๆ

    ตอบลบ
  3. ดีมากเลยครับ..อ่านเข้าใจรู้เรื่อง เรียนได้สอบได้ เกรดดี

    ตอบลบ
  4. อาจาร คับ ผมมี1ข้ออยากจะถาม ถ้า อาจารเห็นช่วยตอบหน่อยคับ
    นายตะวันหลอกนายฟ้าขายที่ดินให้กับตน โดยหลอกลวงนายฟ้าว่า ที่ดินของนายฟ้าจะถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางด่วน นายฟ้าหลงเชื่อ จึงทำสัญญาขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้นายตะวันไปในราคาถูกกว่าความเป็นจริง ต่อมานายฟ้าทราบความจริงว่านายตะวันหลอกตนให้ขายที่ดินในราคาถูกที่จริงแล้วไม่มีการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างทางด่วนแต่อย่างใด นายฟ้าจึงใช้สิทธิ์บอกล้างการซื้อขายที่ดินให้กับนายตะวัน แต่ปรากฏว่าก่อนที่นายฟ้าจะบอกล้างนั้น นายตะวันได้นำที่ดินที่ซื้อมาจากนายฟ้าไปยกให้นางสาวฝนโดยเสน่หา โดยที่นางสาวฝนเข้าใจว่าที่ดินนั้นเป็นของนายตะวัน ดังนั้นเมื่อนายฟ้าทราบภายหลังว่านายตะวันยกที่ดินนั้นให้กับนางสาวฝนไปแล้ว นายฟ้าจึงมาเรียนคืนที่ดินดังกล่าวจากนางสาวฝน
    ดังนั้นอยากทราบว่านางสาวฝนต้องคืนที่ดินดังกล่าวให้กับนายฟ้าหรือไม่ เพราะเหต
    ขอให้อาจารสรุปมาตรามาให้หน่อยคับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. พอดีผมงงกับธงคำตอบมากคับนางฝนผมรู้ว่าต้องใช่ม.160 แต่ระหว่าง นายตะวันกับนายฟ้าหนิผม สับสนมากคับถ้าอาจารเห็นช่วยที

      ลบ