วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2556

ปพพ.สัญญาเพื่อบุคคลภายนอก

อ.พยัพสรุป

สัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก


สัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก

     “ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอก บุคคลภายนอกมีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้โดยตรงได้
     สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้น ตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น (มาตรา ๓๗๔)
     เมื่อสิทธิของบุคคลภายนอกเกิดขึ้นแล้ว คู่สัญญาจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิไม่ได้”(ม.๓๗๕)

     ๑.คู่กรณีตกลงยกทรัพย์ให้บุคคลภายนอก เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก แม้ทรัพย์ที่จะให้เป็นอสังหาริมทรัพย์ ไม่อยู่ในบังคับมาตรา ๕๒๕ ไม่ต้องจดทะเบียนสัญญาให้สมบูรณ์ และมิใช่การให้หรือคำมั่นจะให้อสังหาริมทรัพย์ตาม ปพพ.๕๒๕,๕๒๖ (ฎ.๖๔๗๘/๔๑)
     ๒.ลักษณะของสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก
          ๒.๑ คู่สัญญาไม่ต้องระบุตัวบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ว่าเป็นผู้ใดโดยเฉพาะเจาะจงขณะทำสัญญา เช่นตกลงว่าให้โอนที่ดินแก่บริษัทที่ก่อตั้งในอนาคตก็ได้(ฎ.๒๗๗/๕๑)
          ๒.๒ เจ้าของที่ดินทำสัญญาให้ผู้อื่นปลูกสร้างอาคารบนที่ดินตนโดยตกลงให้ฝ่ายที่ปลูกสร้างอาคารมีสิทธิเรียกเงินช่วยค่าก่อสร้างจากผู้ขอเช่าอาคาร โดยเจ้าของที่ดินจะทำสัญญาเช่าให้แก่ผู้มาขอเช่าอาคารถือว่าผู้มาขอเช่าอาคารเป็นบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์(ฎ.175/12) แต่ถ้าสัญญาระบุว่าการโอนสิทธิการเช่าให้บุคคลภายนอก ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ให้เช่าก่อนจึงอยู่ในอำนาจผู้ให้เช่าว่าจะอนุญาตให้โอนสิทธิการเช่าหรือไม่ ไม่เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก ๆ ไม่มีสิทธิฟ้องให้ทำสัญญาเช่าให้ตนได้(ฎ.3467/35)
          ๒.๓ ทำสัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อตกลงจะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก หากบุคคลภายนอกทวงถามให้ชำระหนี้ถือว่าเป็นการเข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก ใช้อายุความ ๑๐ ปี ตามมาตรา ๑๙๓/๓๐(ฎ.๗๓๕๕/๕๓)
          ๒.๔ คู่สัญญาอาจกำหนดให้บุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ตามสัญญาชำระหนี้ตอบแทนด้วยก็ได้ ยังคงถือว่าเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่บุคคลภายนอกเลือกเอาว่าจะถือเอาประโยชน์หรือไม่ เช่นโจทก์จำเลยทำสัญญายอมความว่าจำเลยจะแบ่งที่ดินให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง เมื่อโอนให้โจทก์แล้วโจทก์ต้องแบ่งให้ผู้ร้องสอดทั้งสามและ น.บุตรโจทก์สี่คนครึ่งหนึ่ง โจทก์จำเลยตกลงโอนที่ดินภายใน 30 วันนับแต่วันทำสัญญา และบุตรโจทก์ทั้งสี่คนต้องชำระเงินให้จำเลย 200 บาท จำเลยจึงจะโอนให้ตามกำหนด เห็นได้ว่าจำเลยเจตนาจะแบ่งที่พิพาทให้บุตรโจทก์ทั้งสี่คนเมื่อผู้ร้องสอดบุตรโจทก์ได้แสดงเจตนาที่จะรับที่ดินส่วนที่จำเลยต้องแบ่งให้แล้ว ก็มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยโอนที่ดินส่วนของตนได้โดยตรงตาม ปพพ.มาตรา 374 จำเลยไม่ต้องโอนให้โจทก์ผู้เดียวก่อน (ฎ.2733/17,9213/39)
          ๒.๕ สัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก ต้องเป็นสัญญาที่ให้คู่สัญญามีหน้าที่ต้องชำระหนี้แก่บุคคลภายนอก ถ้าเป็นข้อสัญญาที่ให้สิทธิแก่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกแทนอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ใช่สัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก  บุคคลภายนอกไม่มีสิทธิฟ้องบังคับตามสัญญานั้นด้วยตนเอง เช่นจำเลยร่วมจ้างจำเลยก่อสร้างอาคาร มีข้อหนึ่งว่า ผู้รับจ้างจะต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้ลูกจ้างของตนตามอัตราค่าจ้างและกำหนดเวลา ถ้าผู้รับจ้างไม่จ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้าง ผู้รับจ้างยอมให้ผู้ว่าจ้างเอาเงินค่าจ้างที่ผู้ว่าจ้างต้องจ่ายให้ผู้รับจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างของผู้รับจ้างได้ และถือว่าเงินจำนวนที่จ่ายไปนี้เป็นเงินค่าจ้างที่ผู้รับจ้างได้รับไปจากผู้ว่าจ้างแล้ว สัญญานี้เพียงกำหนดให้สิทธิจำเลยร่วมที่จะเอาเงินค่าจ้างที่จำเลยร่วมต้องจ่ายแก่จำเลย จ่ายให้โจทก์ลูกจ้างของจำเลยได้ หากจำเลยไม่จ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ เพื่อให้งานก่อสร้างของจำเลยร่วมสำเร็จไปโดยเรียบร้อย มิใช่เป็นหน้าที่จำเลยร่วมที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาข้อนี้ จำเลยร่วมไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ ๆ จะอาศัยข้อสัญญาดังกล่าวบังคับให้จำเลยร่วมชำระค่าจ้างโจทก์ไม่ได้(ฎ.639/30)
          ๒.๖ สัญญาประกันภัยที่ระบุผู้อื่นเป็นผู้รับประโยชน์เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก  สิทธิของผู้รับประโยชน์เกิดขึ้นต้องแสดงเจตนาแก่ผู้รับประกันภัยว่าตนจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาประกันภัยดังกล่าวด้วย มิฉะนั้นผู้เอาประกันภัยมีสิทธิเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งผู้เอาประกันภัยมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนในฐานะคู่สัญญา (ฎ.๑๓๒/๔๐)
          ๒.๗ ก่อนบุคคลภายนอกเข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญา คู่สัญญาทำสัญญากันใหม่โดยไม่ระบุถึงหนี้ที่ต้องชำระแก่บุคคลภายนอก ดังเช่นสัญญาฉบับแรก ถือว่าคู่สัญญาตกลงระงับสิทธิของบุคคลภายนอกแล้ว เช่นสัญญาซื้อขายที่ดินมีเงื่อนไขจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอก แต่สิทธิบุคคลภายนอกยังไม่เกิดเพราะมิได้แสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากข้อสัญญา คู่สัญญาตกลงซื้อขายที่ดินใหม่โดยไม่ระบุหนี้ที่ต้องชำระคือการทำถนน และจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินฉบับใหม่ ถือว่าคู่สัญญาประสงค์ระงับสิทธิที่ต้องชำระแก่บุคคลภายนอกแล้ว(ฎ.๑๒๐๐/๕๒)
     ๓.ถ้าบุคคลภายนอกสละสิทธิที่จะถือเอาประโยชน์จากสัญญา คู่สัญญาเดิมย่อมเข้าถือเอาประโยชน์ตามสัญญาได้ โดยมีอำนาจฟ้องบังคับให้อีกฝ่ายชำระหนี้ได้แก่ตนได้ เช่นโจทก์เช่าซื้อรถจากบริษัท อ. เอาประกันภัยรถไว้กับจำเลยโดยระบุให้บริษัท อ.เป็นผู้รับประโยชน์ ต่อมารถยนต์ที่เช่าซื้อหาย แทนที่บริษัท อ.จะเรียกร้องเอาเงินประกันแต่กลับฟ้องโจทก์ให้รับผิดในค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ การกระทำดังกล่าวเป็นการสละสิทธิที่จะถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาประกันภัยได้ (1950/43)*** สามีภริยาหย่ากันตกลงยกทรัพย์ให้บุตร เมื่อบุตร(บุคคลภายนอก) ยังไม่ได้แสดงเจตนาถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น สามีภริยายังเป็นเจ้าของทรัพย์นั้นคนละครึ่ง หากอีกฝ่ายนำที่ดินไปขายให้คนอื่นโดยอีกฝ่ายไม่ยินยอม เป็นการโต้แย้งสิทธิของอีกฝ่าย ฝ่ายนั้นมีสิทธิฟ้องได้(ฎ.๔๕๖๑/๔๔)
     ๔. บุคคลภายนอกยังมิได้แสดงเจตนาต่อลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญา สิทธิของบุคคลภายนอกยังไม่เกิดขึ้น และกรณีนี้สิทธิของบุคคลภายนอกไม่ตกทอดเป็นทรัพย์มรดกแก่ทายาทได้ แสดงว่าการแสดงเจตนาถือเอาประโยชน์จากสัญญา เป็นสิทธิเฉพาะตัวไม่เป็นมรดกตกทอด (ฎ.2401/15ป)แต่ถ้าคู่สัญญา(ที่ตกลงให้ประโยชน์แก่บุคคลภายนอก) ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตายและบุคคลภายนอกได้ถือเอาประโยชน์แล้ว สิทธิตามสัญญาย่อมตกเป็นของบุคคลภายนอกไม่ตกเป็นมรดกของคู่สัญญา เช่นคู่สัญญาทำสัญญาเช่าซื้อโดยมีข้อสัญญาระบุให้ผู้เช่าซื้อระบุตัวทายาทผู้รับสิทธิในการเช่าซื้อแทนได้ เมื่อผู้เช่าซื้อถึงแก่ความตาย และผู้เช่าซื้อระบุตัวทายาทผู้รับสิทธิในการเช่าซื้อไว้แล้ว ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก เมื่อผู้เช่าซื้อถึงแก่ความตายและทายาทผู้รับสิทธิดังกล่าวแสดงเจตนาเข้าถือประโยชน์จากสัญญานี้ต่อผู้ให้เช่าซื้อแล้ว สิทธิในการเช่าซื้อตกเป็นของทายาทผู้รับสิทธิดังกล่าว ไม่ตกเป็นมรดกของผู้เช่าซื้ออันผู้จัดการมรดกจะฟ้องเรียกคืนได้(ฎ.๑๓๖๖/๑๖ )สัญญายกทรัพย์แก่บุคคลภายนอกแต่บุคคลภายนอกยังไม่ถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น คู่สัญญาโอนขายทรัพย์นั้นให้บุคคลอื่นได้(ฎ.๒๙๑/๔๑)
     .เมื่อบุคคลภายนอกแสดงเจตนาถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้ว สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดขึ้นและฟ้องบังคับตามสัญญาด้วยตนเองได้  แต่ไม่ตัดอำนาจของคู่สัญญาเดิมที่จะฟ้องบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกได้คือทั้งบุคคลภายนอกและคู่สัญญาเดิมมีสิทธิฟ้องบังคับให้อีกฝ่ายชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกได้  เช่น จำเลยทำสัญญาประกันภัยรถยนต์กับโจทก์ที่ ๒ โดยมีโจทก์ที่ ๑ เป็นผู้รับประโยชน์ สัญญาระหว่างโจทก์ที่ ๒ กับจำเลยเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์โจทก์ที่ ๑ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก รถยนต์สูญหายเพราะถูกยักยอกไป จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ ๒  ตามสัญญาประกันภัย โจทก์ที่ ๒ ในฐานะคู่สัญญามีอำนาจฟ้องให้จำเลยใช้เงินตามกรมธรรม์ประกันภัยแก่โจทก์ที่ ๑ ผู้รับประโยชน์ได้ แม้โจทก์ที่ ๒ จะไม่มีอำนาจฟ้องแทนโจทก์ที่ ๑ (ฎ.๕๙๒๕/๓๘)
     ๖.เมื่อบุคคลภายนอกแสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้ว เป็นการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง บุคคลภายนอกมีอำนาจฟ้องบังคับตามสัญญาด้วยตนเอง(ฎ.๑๒๕๔/๙๓ ป) ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ ๑๐ ปีตาม ปพพ.๑๙๓/๓๐(ฎ.๑๑๖/๕๓)และไม่ตัดอำนาจคู่สัญญาเดิม แม้บุคคลภายนอกแสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้ว
     ๗. ถ้าบุคคลภายนอกยังมิได้แสดงเจตนาถือเอาประโยชน์จากสัญญา เฉพาะคู่สัญญาเท่านั้นมีอำนาจฟ้อง แต่ต้องเป็นการฟ้องบังคับให้คู่สัญญาอีกฝ่ายชำระหนี้แก่บุคคลภายนอก ส่วนบุคคลภายนอกจะยอมรับหรือไม่เป็นเรื่องในชั้นบังคับคดี เช่นโจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่าและบันทึกเกี่ยวกับทรัพย์สินยกให้บุตรด้วย เจตนาให้มีผลผูกพันตามกฎหมายไม่เป็นโมฆะ เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในบันทึกการหย่า โจทก์ในฐานะคู่สัญญามีอำนาจฟ้องให้จำเลยโอนทรัพย์แก่บุตรได้ ส่วนบุตรจะยอมรับหรือไม่เป็นเรื่องในชั้นบังคับคดี (ฎ.๔๑๕๖/๓๒)
     .ชั้นพิจารณาของศาล คู่ความอาจทำสัญญายอมยกทรัพย์ให้บุคคลภายนอกได้ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย แม้บุคคลภายนอกถือเอาประโยชน์ตามสัญญาฯ แล้ว โจทก์ซึ่งมีส่วนได้เสียตามสัญญายอมโดยตรงขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลได้ (ฎ.๓๐๕๓/๒๗)
     ๙.การแสดงเจตนาเพื่อถือเอาประโยชน์ของบุคคลภายนอกนี้เป็นนิติกรรมที่ไม่มีแบบ อาจแสดงโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายก็ได้ เช่น บุคคลภายนอกเข้าใช้ทางตามข้อตกลงหรือเข้าทำนาในที่ดินที่คู่สัญญายกให้(ฎ.๔๒๗๘/๓๐)หรือบุคคลภายนอกลงชื่อในสัญญาตกลงรับเอาทรัพย์ที่ยกให้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ (ฎ.๑๔๙๗/๒๔) หนังสือที่ ว.มีถึงจำเลยต้องการให้จำเลยจ่ายเงินให้โจทก์โดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยต้องตรวจรับงานติดตั้งกระจกและอลูมิเนียมเรียบร้อยแล้ว หลังจากตัวแทนจำเลยตรวจรับงานจากโจทก์และจำเลยจ่ายเงินให้โจทก์ ๓๖๐,๐๐๐  บาท กับทำบันทึกภายในบริษัทจำเลยยอมรับว่ายังค้างชำระแก่โจทก์ ๑,๗๕๒,๔๕๐  บาท หนังสือของ ว.เป็นคำเสนอ ส่วนการที่จำเลยตรวจรับมอบงานจากโจทก์ จ่ายเงินให้โจทก์ไปบางส่วนกับทำบันทึกยอมรับว่าค้างชำระหนี้แก่โจทก์มีลักษณะเป็นคำสนองด้วยการแสดงเจตนาโดยปริยาย เกิดเป็นสัญญาระหว่าง ว.กับพวก และจำเลย สัญญานี้เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์โดยตรงได้ และสัญญาดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติใดบังคับให้ทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ(ฎ.๓๗๐๒/๔๕)***  จำเลยกับ บ.ทำสัญญายอมในคดีอื่นแบ่งนาพิพาทให้โจทก์ซึ่งเป็นคนภายนอก โจทก์เข้าทำนาส่วนที่ได้รับแบ่ง จำเลยขัดขวางโจทก์ฟ้องจำเลยขอให้พิพากษา แสดงว่าส่วนแบ่งเป็นของโจทก์ โจทก์เข้าทำนาถือว่าแสดงเจตนาว่าจะเข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาระหว่างโจทก์กับ บ.แล้ว สิทธิโจทก์ย่อมมีขึ้น จำเลยเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิภายหลังได้ไม่(ฎ.๑๙๕๑/๒๔) สัญญาจะคืนที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ตกลงให้จำเลยต้องโอนคืนที่ดินเข้าบริษัทที่จะทำการก่อสร้างโรงเรียน ส.เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตาม ปพพ.๓๗๔  ซึ่งไม่ได้กำหนดให้สัญญาต้องระบุกำหนดตัวบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ว่าเป็นตัวบุคคลหรือนิติบุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจงขณะทำสัญญา เพียงแต่ให้สิทธิบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์มีสิทธิจะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้ ตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น การที่โจทก์และจำเลยตกลงให้จำเลยต้องโอนคืนที่ดินเข้าบริษัทที่จะทำการสร้างโรงเรียน ส.มีผลบังคับได้ เมื่อต่อมา บริษัท ส.จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดและทำหนังสือแจ้งให้จำเลยดำเนินการแบ่งแยกและจดทะเบียนโอนที่ดินคืนบริษัท ส.ตามสัญญา เป็นการแสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นแล้ว บริษัท ส.มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยโอนที่ดินตามสัญญาจะคืนที่ดิน(ฎ.๒๗๗/๕๑)จำเลยเป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์ที่เช่าซื้อโดยให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก สิทธิผู้รับประโยชน์เกิดขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ผู้รับประกันภัยว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น ไม่ว่าจะแสดงเจตนาก่อนหรือหลังเกิดวินาศภัย และผู้รับประโยชน์มีสิทธิเรียกร้องเอาจากผู้รับประกันภัยได้โดยตรงในนามของตนเอง เมื่อโจทก์เรียกให้บริษัทประกันภัยใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นการถือเอาประโยชน์ตามสัญญา แต่ไม่ฟ้องผู้รับประกันซึ่งปฏิเสธไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ แต่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปหลายปีจนขาดอายุความซึ่งเป็นความผิดโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์(ฎ.๑๕/๔๘)ทายาททุกคนทำสัญญายกที่ดินมรดกบางส่วนให้โจทก์ เพื่อชำระหนี้ของผู้ตายโดยโจทก์มิได้เข้าเป็นคู่สัญญาด้วย เป็นการทำสัญญาเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก โจทก์ลงชื่อรับทราบในช่องพยานและถือสัญญาไว้ และบอกกล่าวจำเลยทายาทและผู้จัดการมรดกโอนที่ดินให้ตนเอง ถือว่าโจทก์แสดงเจตนาแก่จำเลยที่จะถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้ว จำเลยต้องโอนที่ดินให้โจทก์ ทายาทจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาไม่ได้(ฎ.๑๓๑๒/๒๗)
     ๑๐.ถ้าบุคคลภายนอกยังไม่แสดงเจตนาว่าจะถือเอาประโยชน์จากข้อสัญญา คู่สัญญาเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิภายหลังได้ เช่นสัญญาซื้อขายที่ดินมีเงื่อนไขว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกคือโจทก์ที่ ๒ แต่สิทธิโจทก์ที่ ๒ ยังไม่เกิดเพราะยังไม่รับรู้ถึงสิทธิในขณะทำสัญญาหรือยังมิได้แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากข้อสัญญา คู่สัญญาย่อมเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิภายหลังได้ โจทก์ที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ตกลงซื้อขายที่ดินกันโดยไม่ระบุหนี้ที่ต้องชำระคือทำถนนและจดทะเบียนภาระจำยอมแก่ที่ดินโจทก์ที่ ๒  ในสัญญาขายที่ดินฉบับใหม่ ถือว่าคู่สัญญาประสงค์จะระงับสิทธิที่ต้องชำระแก่โจทก์ที่ ๒ แล้ว จำเลยทั้งแปดไม่มีหนี้ที่ต้องทำถนนและจดทะเบียนภาระจำยอมแก่ที่ดินโจทก์ที่ ๒ (ฎ.๑๒๐๐/๕๒)


# # # # # #

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น