วันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2556

แพ่ง อ.พยัพ หลักกรรมสิทธิรวม


กรรมสิทธิ์รวม

      .กรรมสิทธิ์รวม                                                                        
       หมายถึง ทรัพย์สินที่เป็นของบุคคลหลายคนรวมกัน ซึ่งการครอบครองของเจ้าของรวมคนหนึ่งถือว่าเป็นการครอบครองแทนเจ้าของรวมคนอื่นด้วย(ฎ.๖๒๓๗/๔๑) ทรัพย์สินที่สามีภริยาไม่ชอบด้วยกฎหมายได้มาระหว่างอยู่กินด้วยกัน ไม่เป็นสินสมรสแต่เป็นกรรมสิทธิ์รวมของสามีภริยา(ฎ.๗๘๖-๗/๓๓)

      ๒.ข้อสันนิษฐานของกฎหมาย
             ๒.๑ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เป็นเจ้าของรวมมีส่วนเท่ากัน(มาตรา ๑๓๕๗) มาตรานี้ใช้ในกรณีที่ไม่แน่ชัดว่าเจ้าของรวมแต่ละคนมีส่วนเท่าใด ถ้าเจ้ารวมตกลงแบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดแล้ว ไม่นำข้อสันนิษฐานนี้มาใช้  การที่โจทก์จำเลยจดทะเบียนรับมรดกที่ดินร่วมกันก็ไม่ใช่ข้อที่จะฟังว่าจำเลยไม่ได้ครอบครองเป็นส่วนสัด ต้องแบ่งที่ดินพิพาทตามส่วนแต่ละคน(ฎ.๖๖๘๑/๔๒)และแต่ละคนมีสิทธิตามที่ตนครอบครอง(ฎ.๖๐๘๐/๔๐)
             ๒.๒ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าของร่วมมีสิทธิจัดการทรัพย์สินรวมกัน การจัดการธรรมดาพึงตกลงโดยคะแนนข้างมากแห่งเจ้าของรวม (แต่เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งในทางจัดการตามธรรมดาได้ เว้นแต่ฝ่ายข้างมากตกลงไว้เป็นอย่างอื่น แต่เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจทำการเพื่อรักษาทรัพย์สินได้เสมอ) การจัดการอันเป็นสาระสำคัญ ต้องตกลงกันโดยคะแนนข้างมากแห่งเจ้าของรวม และคะแนนข้างมากต้องมีส่วนไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งแห่งค่า ทรัพย์สิน แต่การเปลี่ยนแปลงวัตถุที่ประสงค์ จะตกลงกันได้ ต่อเมื่อ เจ้าของรวมเห็นชอบทุกคน(มาตรา ๑๓๕๘) เช่นการให้เช่าทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมเป็นการจัดการธรรมดา เจ้าของรวมคนหนึ่งมีสิทธิจัดการได้เสมอ มีผลผูกพันเจ้าของรวมอื่น แต่ถ้าคิดค่าเช่าอัตราต่ำ ถือว่าขัดสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่นตามมาตรา ๑๓๕๘ วรรคสองและ๑๓๖๐ วรรคหนึ่ง เจ้าของรวมอื่นฟ้องขับไล่ผู้เช่าได้(ฎ.๖๕๒๐/๔๙)            

      ๓.การใช้สิทธิของเจ้าของรวมในการต่อสู้บุคคลภายนอก
       เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก แต่ในการเรียกร้องเอาทรัพย์สินคืนนั้น ท่านว่าต้องอยู่ในบังคับแห่งเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา ๓๐๒ แห่งประมวลกฎหมายนี้(มาตรา ๑๓๕๙) เช่นเจ้าของรวมคนหนึ่งจึงมีสิทธิฟ้องขับไล่ผู้เช่าหรือผู้บุกรุกได้ (ฎ.๑๗๒๑-๑๗๒๒/๓๔) และบุคคลก็อาจฟ้องเจ้าของรวมเพียงคนเดียวได้(ฎ.๑๒๔๙/๔๖) เจ้าของรวมที่ถูกฟ้องต่อสู้คดี ถือว่าเป็นการใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์รวมครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกตามมาตรา ๑๓๕๙ จึงเป็นการกระทำแทนเจ้าของรวมคนอื่นด้วย  คดีที่เจ้าของรวมคนเดียวถูกฟ้องย่อมผูกพันเจ้าของรวมคนอื่นด้วย โจทก์จึงไม่ต้องฟ้องเจ้าของรวมคนอื่นอีก (ฎ.๔๙๒๖/๔๘) หรือเจ้าของรวมคนหนึ่งมีสิทธิร้องขัดทรัพย์ได้ แม้เจ้าของรวมคนอื่นไม่ได้ร่วมดำเนินการดังกล่าวก็ตาม (ฎ.๑๘๘๖/๔๑)

      ๔. การใช้ทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์รวม
             เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้ แต่การใช้ต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น ๆ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิได้ดอกผลตามส่วนของตนที่มีในทรัพย์สินนั้น(มาตรา ๑๓๖๐)
             ๔.๑ การใช้ทรัพย์สินที่เป็นการขัดสิทธิเจ้าของรวมอื่น ๆ เช่นเจ้าของรวมคนหนึ่งอนุญาตให้ผู้อื่นปลูกบ้านในที่ดินกรรมสิทธิ์รวม (ฎ.๗๖๖๒/๔๖) หรือเจ้าของรวมคนหนึ่งปลูกบ้านในที่ดินกรรมสิทธิ์รวมโดยเลือกบริเวณที่มีความเจริญ (ฎ.๑๖๖๙/๔๘)หรือเจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปให้บุคคลอื่นยึดถือเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ ขัดต่อสิทธิโจทก์  จำเลยต้องส่งมอบโฉนดดังกล่าวแก่โจทก์(ฎ.๔๙๒๐/๔๗)เจ้าของรวมคนหนึ่งให้เช่าตึกพิพาทโดยทำสัญญาเช่าภายหลังโจทก์เจ้าของรวมคนหนึ่งกำลังฟ้องขับไล่จำเลยผู้เช่าออกจากที่เช่า เป็นการก่อให้เกิดภาระติดพันในตึกพิพาทซึ่งต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์เจ้าของรวมด้วยตามมาตรา ๑๓๖๑ วรรคสอง เมื่อโจทก์เจ้าของรวมไม่รู้เห็นยินยอมด้วย สัญญาเช่าไม่สมบูรณ์และถือว่าเป็นการใช้สิทธิที่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่นตาม ปพพ.๑๓๖๐ วรรคหนึ่ง สัญญาเช่าระหว่างจำเลยกับ ส.เจ้าของรวมไม่ผูกพันโจทก์ โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยได้(ฎ.๗๙/๕๑)
             ๔.๒ การใช้ทรัพย์สินที่ไม่เป็นการขัดสิทธิเจ้าของรวมอื่น ๆ เช่น โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินที่โจทก์ครอบครองร่วมกับโจทก์ทั้งสี่ เป็นการกระทำในฐานะเจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ ใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์นั้นทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกคือจำเลยทั้งสองตาม ปพพ.๑๓๕๙ ในวันชี้สองสถานคู่ความตกลงท้ากันว่าให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินหากได้ ๓ ไร่  จำเลยยอมแบ่ง หากเกินหรือ  ล้ำจำนวนให้ตกเป็นของจำเลยทั้งสอง หากรังวัดไม่ได้เพราะมีการคัดค้านให้ พิจารณาต่อไปโดยถือว่าคำท้าไม่มีผล การท้ากันดังกล่าวไม่ถือเป็นเรื่องเจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ ใช้สิทธิขัดต่อเจ้าของรวมคนอื่น ๆ ตาม ปพพ.๑๓๖๐ เพราะไม่ว่าผลการรังวัดที่ดินจะเป็นเช่นใด ที่ดินที่โจทก์ทั้งสองครอบครองร่วมกับจำเลยทั้งสี่ยังมีเนื้อที่เท่าเดิม(ฎ.๒๖๖๒/๕๐)
      ๕. การจำหน่ายทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์รวม (มาตรา ๑๓๖๑)
      เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ จะจำหน่ายส่วนของตน หรือจำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันก็ได้ แต่ตัวทรัพย์สินนั้นจะจำหน่าย จำนำ จำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันได้ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน             ถ้าเจ้าของรวมคนใดจำหน่าย จำนำ จำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันทรัพย์สินโดยมิได้รับความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน แต่ภายหลังเจ้าของรวมคนนั้นได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินแต่ผู้เดียวไซร้ ท่านว่านิติกรรมนั้นเป็นอันสมบูรณ์(มาตรา ๑๓๖๑)  เช่นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายได้ทรัพย์สินมาระหว่างสมรสจะเป็นสินสมรส เมื่อหย่าขาดกันแล้วโดยยังไม่แบ่งสินสมรสกัน ทรัพย์สินสิ้นสภาพจากสินสมรสและมีฐานะเป็นกรรมสิทธิ์รวมของทั้งสองฝ่าย ต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวม ถือว่ามีส่วนเท่ากัน หากสามีทำสัญญาขายที่ดินและบ้านให้บุคคลอื่น โดยภริยาไม่ทราบเรื่องและไม่ให้ความยินยอม แม้สามีทำสัญญากับบุคคลภายนอกโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน สัญญาดังกล่าวไม่ผูกพันกรรมสิทธิ์ส่วนของภริยาตามมาตรา ๑๓๖๑ วรรคสอง คงผูกพันส่วนของสามี ภริยาฟ้องให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ของภริยาได้ (ฎ.๔๕๖๑/๔๔) หรือการจัดการสินสมรสของสามีภริยาต้องบังคับตามมาตรา ๑๔๗๖ คือต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง หากฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวมีผลตามมาตรา ๑๔๘๐ คู่สมรสอีกฝ่ายฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสฝ่ายนั้นให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะทำนิติกรรมบุคคลภายนอกกระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ซึ่งกรณีต้องเป็นสามีภริยากันอยู่ หากหย่ากันแล้วแต่ยังไม่แบ่งสินสมรส การจัดการที่ดินและบ้านจึงนำมาตรา ๑๔๗๖ และ ๑๔๘๐ มาใช้ไม่ได้ ต้องบังคับในฐานะกรรมสิทธิ์รวมตามมาตรา ๑๓๖๑  ซึ่งไม่มีบทบัญญัติคุ้มครองบุคคลภายนอกเช่นมาตรา ๑๔๘๐ แม้บุคคลภายนอกจะสุจริตเสียค่าตอบแทนก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือ โจทก์จำหน่ายกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์แก่ ม. มิใช่เป็นการก่อให้เกิดภาระติดพันแก่ตัวทรัพย์สิน ย่อมเป็นสิทธิโจทก์ที่สามารถทำได้ตามมาตรา ๑๓๖๑ วรรคหนึ่ง โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยเจ้าของรวม(ฎ.๑๔๕๔/๕๑)ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์กับจำเลยที่ 2 คนละครึ่ง จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอม นิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวย่อมไม่มีผลผูกพันที่ดินพิพาทในส่วนของ โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่โจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ครึ่งหนึ่งได้ ( ฎ.5658/2552) เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ จะจำหน่ายส่วนของตนหรือจำนองหรือก่อให้เกิดภาระผูกพันก็ได้ หมายถึงส่วนที่จะได้ในฐานะเป็นเจ้าของรวม ไม่ใช่ตัวทรัพย์ การจำหน่ายส่วนของตนเท่ากับเป็นการจำหน่ายสิทธิการเป็นเจ้าของรวมนั่นเอง มีผลทำให้ผู้ซื้อหรือผู้รับโอนเข้าเป็นเจ้าของรวมแทน การจำหน่ายตามมาตรานี้ไม่จำต้องให้เจ้าของรวมคนอื่นยินยอมด้วย แต่ถ้าเป็นตัวทรัพย์แล้ว เจ้าของรวมคนใดจะจำหน่ายฯลฯ ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของรวมคนอื่นด้วยไม่ว่าจะจำหน่ายทั้งหมดหรือบางส่วน เช่นเจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ ขายที่ดินให้คนอื่นโดยระบุส่วนของตนบอกจำนวนเนื้อที่ไว้ชัดแจ้ง ไม่เกินสิทธิของตน แม้เจ้าของรวมคนอื่นไม่รู้เห็นยินยอมการซื้อขายสมบูรณ์ (ฎ.๑๙๘๐/๙๔)การจำหน่ายตัวทรัพย์ไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมดก็ทำไม่ได้ เช่นที่ดินโฉนดซึ่ง ด.ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับ ล.บิดาจำเลยทั้งสอง ที่ดินดังกล่าวไม่มีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดว่าส่วนของใครอยู่ตอนไหนและมีเนื้อที่เท่าใด ด.และ ล.ผู้มีชื่อในโฉนดซึ่งถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ยังเป็นเจ้าของรวมอยู่ตามส่วนที่ตนถือกรรมสิทธิ์ โจทก์ทำสัญญาจะขายที่ดินกับ ด.โดยระบุเนื้อที่ ๖ ไร่ ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของที่ดิน เป็นการซื้อขายตัวทรัพย์ เมื่อเจ้าของรวมคนอื่นไม่ยินยอมไม่มีผลผูกพันเจ้าของรวมคนอื่น(ฎ.๕๔๙๒/๔๘)เจ้าของรวมคนหนึ่งขายทรัพย์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของร่วมคนอื่น สัญญานั้นไม่ตกเป็นโมฆะ แต่ผูกพันเฉพาะส่วนของเจ้าของรวมที่ทำนิติกรรมนั้น ไม่ผูกพันเจ้าของรวมคนอื่น เช่นทายาทคนหนึ่งเอาที่ดินมรดกยังไม่แบ่งระหว่างทายาทไปขายทั้งหมดโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาทอื่น ผู้นั้นจะขอให้ศาลบังคับทายาทผู้ขายโอนที่ดินกองมรดกทั้งหมด ศาลย่อมไม่อาจบังคับได้ แต่สัญญาจะซื้อจะขายไม่เป็นโมฆะ ศาลจึงไม่ตัดสินใจว่าจะไปว่ากล่าวเอาแก่ทายาทผู้ขายในส่วนเป็นของทายาทผู้ขายโดยเฉพาะ(ฎ.๕๖๕๘/๕๒)โจทก์มีสิทธิได้ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่เป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์และครอบครองมาด้วยกันโดยเข้าทำกินในที่พิพาทแล้วให้เงินจำเลยที่ ๑ เป็นรายปีทุกปีตลอดมา ไม่ได้แบ่งกัน ถือว่าต่างเป็นเจ้าของรวมตาม ปพพ.๑๗๔๕ การที่จำเลยที่ ๑ โอนที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกให้จำเลยที่ ๒ และ ๓ ทั้งแปลง จึงผูกพันได้เฉพาะส่วนของจำเลยที่ ๑ โจทก์ขอให้เพิกถอนการโอนในส่วนของตนที่จำเลยที่ ๑ ไม่มีสิทธิโอนกลับคืนมาได้(ฎ.๙๕๒/๒๒) เจ้าของรวมคนหนึ่งจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนของตนไม่กระทบถึงสิทธิเจ้าของรวมคนอื่น(ฎ.๕๔๒๓/๕๓)
      ๖. การแบ่งกรรมสิทธิ์รวม (มาตรา ๑๓๖๓,๑๓๖๔)
            ๖.๑ เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้ เว้นแต่จะมีนิติกรรมขัดอยู่ หรือถ้าวัตถุที่ประสงค์ที่เป็นเจ้าของรวมกันนั้นมีลักษณะเป็นการถาวร ก็เรียกให้แบ่งไม่ได้ สิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินนั้น ท่านว่าจะตัดโดยนิติกรรมเกินคราวละสิบปีไม่ได้ เจ้าของรวมจะเรียกให้แบ่งทรัพย์สินในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควรไม่ได้ (มาตรา ๑๓๖๓)  นิติกรรมขัดอยู่ จะตัดโดยนิติกรรมเกินคราวละสิบปีไม่ได้ แต่ถ้าสัญญาไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด เจ้าของรวมคนหนึ่งอาจบอกเลิกสัญญาเมื่อเวลาผ่านไปพอสมควรได้ เช่นสัญญาจะขายที่ดินและสัญญาซื้อขายหุ้นคู่สัญญาตกลงนำที่ดินซึ่งโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามเป็นเจ้าของรวมไปขายเพื่อนำเงินมาชำระค่าหุ้น ไม่มีลักษณะที่จะให้เป็นเจ้าของรวมอย่างถาวร แต่มีผลให้ยังเรียกให้แบ่งที่ดินไม่ได้ตราบที่ข้อตกลงยังมีผลผูกพันอยู่ เมื่อสัญญาไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด หากจะให้คู่สัญญาต้องผูกพันตลอดไปจนกว่าจะขายที่ดินได้ ไม่แน่ว่าอีกกี่ปี ไม่ใช่เจตนาของคู่สัญญา เมื่อนับแต่วันทำสัญญาถึงวันฟ้องคดีนานกว่า ๖ ปี ยังขายที่ดินไม่ได้ จึงมีเหตุผลสมควรที่โจทก์ทั้งสองจะบอกเลิกสัญญาได้ ความผูกพันสิ้นสุดลง นิติกรรมที่เป็นเหตุขัดข้องไม่ให้ขอแบ่งที่ดินจึงไม่มี โจทก์ทั้งสองมีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสามแบ่งที่ดินได้ไม่ขัดมาตรา ๑๓๖๓ (ฎ.๑๕๗๖/๕๐)และการฟ้องขอแบ่งทรัพย์ที่มีกรรมสิทธิ์รวมตามมาตรา ๑๓๖๓ ไม่มีอายุความ ผู้มีกรรมสิทธิ์รวมจะทำนิติกรรมห้ามแบ่งกรรมสิทธิ์รวมได้คราวละไม่เกิน ๑๐ ปี ไม่ใช่อายุความ(ฎ.๖๔๓๗/๕๐)
             ๖.๒ วิธีการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม
                   การแบ่งทรัพย์สินพึงกระทำโดยแบ่งทรัพย์สินนั้นเองระหว่างเจ้าของรวม หรือโดยขายทรัพย์สินแล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งกัน  ถ้าเจ้าของรวมไม่ตกลงกันว่าจะแบ่งทรัพย์สินอย่างไร เมื่อเจ้าของรวมคนหนึ่งคนใดขอ ศาลอาจสั่งให้เอาทรัพย์สินนั้นออกแบ่ง ถ้าส่วนที่แบ่งให้ไม่เท่ากัน จะสั่งให้ทดแทนกันเป็นเงินก็ได้ ถ้าการแบ่งเช่นว่านี้ไม่อาจทำได้หรือจะเสียหายมากนักก็ดี ศาลจะสั่งให้ขายโดยประมูลราคากันระหว่างเจ้าของรวมหรือขายทอดตลาดก็ได้ (มาตรา ๑๓๖๔) วิธีแบ่งกรรมสิทธิ์รวมต้องเป็นไปตาม ปพพ.๑๓๖๔ แม้ศาลจะพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินให้โจทก์กึ่งหนึ่งก็ตาม แต่จะพิพากษาให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยไม่ได้ หรือจะพิพากษาให้เอาทรัพย์สินขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งให้โจทก์กึ่งหนึ่งทันทีไม่ได้(ฎ.๖๗๘๑/๔๕) ส่วนการจะแบ่งกรรมสิทธ์อย่างไรเป็นเรื่องในชั้นบังคับคดีศาลไม่จำต้องพิพากษากำหนดวิธีการแบ่งไว้(ฎ.๒๖๕๑/๓๗) แต่ถ้าเจ้าของรวมตกลงแบ่งแยกการครอบครองทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมออกเป็นส่วนสัดแล้ว ถือว่าเป็นการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมระหว่างเจ้าของรวมกันเองแล้วตาม ปพพ.๑๓๖๔ วรรคหนึ่ง ศาลต้องพิพากษาให้แบ่งทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมตามที่ตกลงกันนั้น กรณีนี้หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามย่อมถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาได้(ฎ.๒๕๐๓/๒๓) และเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่มีสิทธิขอให้ยึดถือเอาทรัพย์สินส่วนที่เป็นของเจ้าของรวมคนอื่นมาขายทอดตลาด คงยึดได้เฉพาะส่วนที่เป็นของเจ้าของรวมซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น (ฎ.๒๔๕๑/๔๘) การแบ่งทรัพย์สินกรรมสิทธิ์รวม ศาลย่อมใช้ดุลพินิจเพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่เจ้าของรวมได้ เช่นให้แบ่งที่ดินให้เจ้าของรวมได้รับตรงตามที่ดินที่เจ้าของรวมปลูกบ้านอยู่อาศัย โดยไม่จำต้องสั่งให้ประมูลหรือขายทอดตลาดก็ได้(ฎ.๔๓๒๙/๓๙)เจ้าของรวมมิได้แบ่งแยกกันครอบครองที่ดิน โจทก์ฟ้องประสงค์ให้ศาลพิพากษาแบ่งที่ดินที่โจทก์และจำเลยทั้งสองถือกรรมสิทธิ์รวมกันตามส่วนของแต่ละคนที่มีกรรมสิทธิ์อยู่เป็นประการสำคัญ แม้โจทก์ขอมาในคำขอท้ายฟ้องอย่างไร ศาลย่อมมีอำนาจแบ่งให้ได้ตามที่กำหนดไว้ใน ปพพ.๑๓๕๔ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ(ฎ.๒๒๙๙/๓๙) ทรัพย์สินสามีภริยาเมื่อยังไม่แบ่งกัน ย่อมเป็นทรัพย์สินซึ่งสามีภริยาเป็นเจ้าของรวม การแบ่งทรัพย์สินตาม ปพพ.๑๓๖๔ กระทำได้โดยแบ่งทรัพย์สินนั้นเองระหว่างเจ้าของรวมหรือโดยการขายแล้วเอาเงินที่ขายแบ่งกัน ไม่ต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือต่อกันก็ฟ้องร้องให้บังคับคดีได้(ฎ.๓๔๑๕/๒๔)ส่วนการฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวม ต้องฟ้องเจ้าของรวมทุกคนหรือไม่ มีคำพิพากษาฎีกา ๒ แนวคือต้องฟ้องทุกคน(ฎ.๕/๓๘) อีกแนวหนึ่งไม่ต้องฟ้องเจ้าของรวมทุกคน(ฎ.๘๑๒๑/๔๐) 


****************
     


1 ความคิดเห็น: