วันเสาร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2556

หลักแพ่งมาตรา ๑๒๙๙-๑๓๐๐

มาตรา ๑๒๙๙ [1]ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น [2]ท่านว่าการได้มาโดยนิติกรรมซึ่ง[3]อสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้น[4]ไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่
             ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์[5]โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม  สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จะทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็น[6]ข้อต่อสู้[7]บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและ[8]โดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว
             [9]มาตรา ๑๓๐๐ ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เป็นทางเสียบเปรียบแก่[10]บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นอาจ เรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ แต่การโอนอันมีค่าตอบแทน ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น  ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้




[1] ภายใต้บังคับเช่น การซื้อขายอสังหา ม.๔๕๖ ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นตกเป็นโมฆะ จะนำ ๑๒๙๙ มาใช้ไม่ได้
[2] โดยนิติกรรมเช่น เช่าซื้อที่ดินเมื่อผู้เช่าซื้อชำระราคาเช่าซื้อครบถ้วน ,การได้อสังหาหรือทรัพย์สิทธิเกี่ยวกับอสังหาโดยทางมรดก ,การโอนอสังหาตีชำระหนี้ ,ได้มาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ(แม้จะเป็นการประนีประนอมในศาลและศาลมีคำพิพากษาตามยอมก็ตาม),นิติกรรมการไถ่การขายฝาก(ไม่มีแบบ),ข้อตกลงที่ให้อีกฝ่ายได้สิทธิภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดินหรือภาระติดพันในอสังหาฯ
[3] ปกติไม่นำมาใช้กับที่ดินมือเปล่าที่ไม่มีกรรมสิทธิ์(กรรมสิทธิ์มีเฉพาะที่ดินมีโฉนด) แต่ศาลนำมาใช้กับที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ด้วย
[4] ไม่บริบูรณ์หมายถึง ไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิกล่าวคือไม่อาจใช้ยันกับบุคคลทั่วไปได้ แต่บังคับกันได้ระหว่างคู่กรณีในฐานะบุคคลสิทธิ
[5] ทางอื่นนอกจากทางพินัยกรรม ได้แก่ การได้มาโดยคำพิพากษาศาล  การได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์ หรือได้มาโดยทางมรดก ไม่มีพินัยกรรม(เป็นทายาทโดยธรรม,การได้มาโดยการรับมรดกแทนที่
[6] ข้อต่อสู้ จะต้องเป็นสิทธิประเภทเดียวกัน กับสิทธิของบุคคลภายนอก บุคคลภายนอกจึงจะได้รับความคุ้มครอง เช่น นายก.ได้ภารยทรัพย์จากที่ดินนายข. แต่มิได้จดทะเบียน ต่อมานายข. จดทะเบียนขายให้นายค. นายค.จะได้รับความคุ้มครองหรือไม่ ตอบ (สิทธิที่ยังมิได้จดทะเบียนนั้นมิให้ยก ขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน หมายความถึงแต่กรณีที่บุคคลได้มาโดยสุจริตซึ่งทรัพยสิทธิอันเดียวกับทรัพยสิทธิที่ยังไม่ได้จดทะเบียน)กล่าวคือรอนสิทธิกับการได้สิทธิ
[7] กรณีไม่ใช่บุคคลภายนอก ทายาทเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ เจ้าหนี้สามัญตามคำพิพากษา เจ้าของกรรมสิทธิ์รวม  กรณีถือว่าเป็นบุคคลภายนอกได้แก่ เจ้าหนี้จำนอง
[8] โดยสุจริตหมายถึง ไม่รู้ว่ามีผู้ได้มาโดยทางอื่นนอกจากทางนิติกรรมแล้ว เช่นซื้อที่ดินไม่เคยออกไปดูมาก่อน ,ไปดูแล้วมีบ้านปลูกอยู่ไม่ถามไม่สุจริต ,กรณีมีการโอนกันหลายทอดหากทอดใดทอดหนึ่งสุจริตและเสียค่าตองแทน โดยไม่ต้องพิจารณาว่าผู้รับโอนต่อมาจะสุจริตหรือไม่  ,กรณีครอบครองปรปักษ์เมื่อมีการโอนสุจริตถือสิทธิของผู้ครอบครองปรปักษ์ขาดตอนลง(ต้องเริ่มนับการครอบครองใหม่) ,กรณีรับโอนจากผู้ไม่มีสิทธิ ไม่เข้ากรณีมาตรา ๑๒๙๙ แต่เป็นไปตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน  เช่น  มีผู้ปลอมลายมือชื่อไปขาย ผู้ชื้อโดยสุจริตไม่อาจยกข้อต่อสู้เจ้าของที่ดิน หากเจ้าของที่ดินลงลายมือชื่อหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่กรอกข้อความ มีผู้นำไปกรอกทำสัญญาชื้อขาย เป็นกระทำประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่อาจฟ้องเพิกถอนสัญญาขายเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตามมาตรา๕(ไม่มีอำนาจ),การออกโฉนดทับที่ผู้อื่นแล้วมีการขายและโอนกันมา ถือว่าเป็นการรับโอนที่ดินจากผู้ไม่มีสิทธิ ไม่เข้า๑๒๙๙,ไม่มีสิทธิในที่ดินนำที่ดินไปออกโฉนดและนำไปขายผู้ชื้อโดยสุจริตไม่ได้รับความคุ้มครอง ตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน(ผู้รับโอนต้องรับโอนไปเพียงสิทธิผู้ขาย,กรณีออกโฉนดที่ดินไขว้กัน (โอนโฉนดไขว้กันโดยสำคัญผิด แต่ครอบครองเป็นเจ้าของที่ดินถูกต้องมาตลอด จะอ้างชื่อในโฉนดไม่ได้) แต่ผู้รับบุคคลภายนอกรับโอนมาโดยสุจริตย่อมได้รับความคุ้มครอง
[9] ความแตกต่างระหว่าง๑๓๐๐ กับ ๒๓๗ ๑.๒๓๗ ต้องเป็นเจ้าหนี้ ๑๓๐๐ ไม่ต้องเช่นทายาทฟ้องเพิกถอนการโอน ๒.การเพิกถอนตาม ๒๓๗ ทำให้ทรัพย์เป็นของลูกหนี้ไม่ตกเป็นของเจ้าหนี้  ๑๓๐๐ ผลการเพิกถอนให้ตกมาเป็นของตน
[10] บุคคลที่อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิได้อยู่ก่อน เช่น ผู้จะซื้ออสังหาฯ ซึ่งได้รับชำระราคาครบถ้วนแล้ว และได้รับมอบทรัพย์ที่ซื้อแล้ว (คงเหลือเพียงการโอนทางทะเบียนเท่านั้น),ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ขายจดทะเบียนโอนอสังหาฯตาสัญญาจะซื้อขาย แม้ยังไม่จดทะเบียนโอน(แม้ผู้จะขายจะยังคงครอบครองทรัพย์นั้นอยู่,หรือมีเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานำยึดไว้ก่อน,แม้ผู้จะซื้อจะยังไม่ชำระราคาส่วนที่เหลือ),แม้คำพิพากษาจะยังไม่ถึงที่สุด,ผู้ได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยการครอบครองปรปักษ์,ทายาทที่ได้อสังหาริมทรัพย์มาทางมรดก เช่นทายาทครอบครองมรดกร่วมกันมาผู้จัดการมรดกไปยกให้คนอื่นที่ไม่ใช่ทายาท,กรณีเจ้าของรวมคนหนึ่งยอมให้เจ้าของรวมคนอื่นมีชื่อในโฉนดคนเดียว(ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยายอมให้สามีมีชื่อคนเดียวแล้วนำไปขายให้คนอื่นโดยไม่สุจริตให้เพิกถอนได้) ,ผู้ซื้ออสังหาฯจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริต เป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้อยู่ก่อน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น