วันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2556

หลักแพ่ง (ทางจำเป็น) อ.พยัพ ๑๓๔๙-๑๓๕๒



ทางจำเป็น

ทางจำเป็น (มาตรา 1349)

      “ที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้
      ที่ดินแปลงใดมีทางออกได้แต่ต้องข้ามสระ บึง หรอทะเลหรือมีที่ชันอันมีระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากเจ้าของที่ดินจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ได้
      ที่และวิธีทำทางผ่านต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน โดยคำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายน้อยที่สุดที่จะเป็นได้ ถ้าจำเป็นผู้มีสิทธิผ่านจะสร้างถนนเป็นทางผ่านได้
      ผู้มีสิทธิผ่านต้องใช้ค่าทดแทนแก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่ เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ค่าทดแทนนั้นนอกจากค่าเสียหายเพราะสร้างถนนแล้ว จะกำหนดเป็นรายปีก็ได้

      1.ทางจำเป็นเกิดขึ้นโดยอำนาจของกฎหมาย (ปพพ.มาตรา 1349) เป็นทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ใช้ยันบุคคลทั่วไปได้ ผู้มีสิทธิใช้ทางไม่ต้องจดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ (ฎ.4416/41)ทางจำเป็นมิใช่สิทธิที่ติดกับที่ดิน ถ้าต่อมาเจ้าของที่ดินมีทางออกสู่สาธารณะแล้วที่ดินไม่ตกอยู่ในที่ล้อมก็ไม่มีสิทธิของให้เปิดทางจำเป็น เช่นเจ้าของที่ดินเดิมมีสิทธิใช้ทางจำเป็นในที่ดินที่ล้อมอยู่ เมื่อโอนขายที่ดินผู้รับโอนเป็นเจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่อีกแปลงหนึ่งซึ่งติดทางสาธารณะ ผู้รับโอนอ้างทางจำเป็นอีกไม่ได้(ฎ.5672/46)โจทก์ได้ภาระจำยอมในที่ดินอีกแปลงหนึ่งซึ่งออกสู่ทางสาธารณะได้  ระหว่างพิจารณาของศาล ที่ดินโจทก์ได้สิทธิภาระจำยอมผ่านที่ดินข้างเคียงแล้ว ที่ดินจึงไม่ตกอยู่ในที่ล้อมต่อไป ศาลพิพากษายกฟ้องได้โดยไม่ต้องวินิจฉัยว่าขณะฟ้องโจทก์ไม่มีทางอื่นนอกจากทางพิพาทสู่ทางสาธารณะหรือไม่ (ฎ.25374/49)
      2.ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ทางสาธารณะดังกล่าวอาจเป็นทางบกหรือทางน้ำก็ได้ ถ้าที่ดินติดคลองสาธารณะอ้างทางจำเป็นนไม่ได้ (ฎ.1313/93) แต่คลองต้องใช้สัญจรไปมาได้ด้วย (ฎ.2240/25) ถ้าคลองตื้นเขินจนไม่สามารถใช้เดินเรือหรือเรือสัญจรไปมาได้หรือใช้ได้เป็นครั้งคราวหรือไม่มีน้ำสัญจรได้ตลอดปี  (ฎ.800-801/44)หรือทางสาธารณะที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง ใช้สัญจรไปมาไม่ได้(ฎ.290/36)หรือทางเดินออกสู่ทางสาธารณะหมดสภาพเป็นทางแล้ว ทำให้ไม่มีทางอื่นออกสู่ทางสาธารณะได้อีก มีสิทธิให้เปิดทางจำเป็นได้  เช่นเดิมโจทก์เคยใช้ทางเดินตามแนวริมคลองขวางออกไปสู่ถนนสาธารณะ แต่เมื่อทางดังกล่าวไม่มีสภาพเป็นทาง จึงเปลี่ยนมาใช้ทางพิพาทในโครงการจำเลย ๆ ก่อสร้างกำแพงปิดถือว่าที่ดินโจทก์มีที่ดินแปลงอื่นล้อมรอบจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ และกำหนดความกว้างของทางเพียง 1.50 เมตร(ฎ.7349/41) อ.ฟ้องจำเลยขอให้เปิดทางจำเป็น เป็นเรื่องเฉพาะตัวไม่มีผลผูกพันโจทก์ แต่ อ.เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนด 19 แปลงใหญ่ และมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะและถนนได้ การที่ที่ดินโจทก์แบ่งแยกจากที่ดินโฉนดหมายเลข 19 ซึ่งเป็นแปลงใหญ่นั้น ปรากฏว่าที่ดินที่แบ่งทุกแปลงมีทางออกผ่านที่ดินจำเลยสู่ทางสาธารณะเป็นทางจำเป็นอยู่แล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิผ่านที่ดินจำเลยซึ่งเป็นทางจำเป็นได้เช่นเดียวกับ อ. เพราะจำเลยไม่มีสิทธิปิดกั้นทางจำเป็นอีกต่อไป ถือว่าที่ดินโจทก์มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยเปิดทางพิพาทในที่ดินจำเลยเป็นทางจำเป็นอีก(ฎ.2900/53)
      3.ผู้มีสิทธิขอเปิดทางจำเป็น  ต้องเป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมเท่านั้น เจ้าของที่ดินเท่านั้นที่มีอำนาจฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นแต่ไม่ต้องเป็นผู้ครอบครองที่ดิน(ฎ.1855/35) ที่ดิน ม.ที่โจทก์ปลูกเรือนอยู่อาศัยจดทางสาธารณะ แต่ ม.ปลูกห้องแถวกั้น จึงเข้าออกทางนี้ไม่ได้ จะถือว่าที่ดิน ม.ตกอยู่ในที่ล้อมของที่ดินและมาร้องขอให้ศาลบังคับเจ้าของที่ดินให้เปิดทางจำเป็นไม่ได้(ฎ.517/09)เจ้าของโรงเรือนที่ไม่ใช่เจ้าของที่ดินแม้ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องทางจำเป็น(ฎ.2196/14)ผู้ที่ปลูกบ้านในที่ดิน น.ส.3 ก.เท่านั้นไม่ใช่เจ้าของที่ดิน แม้ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่ก็ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็น(ฎ.3740/51) ผู้รับโอนที่ดินที่ถูกล้อมจากเจ้าของเดิมซึ่งมีสิทธิผ่านทางจำเป็นออกสู่ทางสาธารณะ  มีสิทธิใช้ทางจำเป็นเช่นเดียวกับเจ้าของที่ดินซึ่งได้สิทธิมาตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม เพราะรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่จากเจ้าของเดิม แม้จำเลยทั้งสองไม่เป็นคู่ความในคดีก่อน ไม่ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลภายนอกอันมีผลถึงจำเลยที่ 2 สามีจำเลยที่ 1 ด้วย โจทก์และจำเลยทั้งสองคดีนี้ต้องผูกพันโดยคำพิพากษาในคดีก่อน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าใช้ค่าใช้ทางจำเป็น(ฎ.4416/41) การขอทางจำเป็นตาม ปพพ.1349 กฎหมายไม่กำหนดว่าผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมอยู่ต้องได้ที่ดินมาโดยสุจริต แม้ได้ที่ดินมาโดยรู้ว่าเป็นที่ดินที่มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่ ก็มีสิทธิฟ้องขอเปิดทางจำเป็นได้ ไม่เป็นการฟ้องคดีโดยไม่สุจริต(ฎ.5103/47)       
      4.สิทธิที่จะผ่านที่ดินที่ล้อมอยู่  ถ้าที่ดินนั้นถูกล้อมอยู่จนไม่สามารถออกสู่ทางสาธารณะได้ แม้เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่จะยินยอมให้ผ่านได้ ก็มิใช่สิทธิตามกฎหมาย ถือว่าที่ดินไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ขอเปิดทางจำเป็นได้(ฎ.9325/53)มาตรา 1349 มิได้บังคับว่าเจ้าของที่ดินที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจะต้องขอผ่านที่ดินที่ล้อมซึ่งอยู่ใกล้ทางสาธารณะมากที่สุด เจ้าของที่ดินซึ่งถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจึงมีสิทธิขอผ่านที่ดินที่ล้อมแปลงใดก็ได้ เพียงแต่การผ่านที่ดินที่ล้อมนั้นมาตรา 1349 วรรคสามบัญญัติว่าที่และวิธีทำทางผ่านต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่านกับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้ ถ้าจำเป็นผู้มีสิทธิจะผ่านจะสร้างถนนผ่านก็ได้ เมื่อที่ดินโจทก์ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะ โจทก์มีสิทธิขอเปิดทางในที่ดินของจำเลยเป็นทางจำเป็น(ฎ.2989/52)
      5. สภาพของทางจำเป็น ทางจำเป็นไม่จำต้องเชื่อมกับทางสาธารณะโดยตรง เพราะมาตรา 1349 ระบุเพียงว่าที่ดินแปลงใดแปลงหนึ่งมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะเจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ (ฎ.6930/40)
      6.ที่ดินมีทางออกแต่ต้องข้ามสระ บึง หรือทะเลหรือเป็นที่ชันตามมาตรา 1349 วรรคสอง เจ้าของที่ดินจะผ่านที่ล้อมอยู่ได้ เช่น เดิมใช้ลำห้วยออกสู่ทางสาธารณะ ภายหลังมีการราดยางและยกระดับถนนขึ้นสูงจนถึงระดับศีรษะ ทำให้ใช้ลำห้วยเป็นทางออกสู่สาธารณะลำบากเนื่องจากลำห้วยลึก 1 เมตร มีสภาพแห้ง ไม่มีน้ำ เวลาฝนตกจะมีน้ำขัง ไม่นานก็แห้งไม่อาจใช้สัญจรเป็นปกติได้ ไม่มีสภาพเป็นทางสาธารณะ และถนนสาธารณะสูงมาก มีสิทธิผ่านทางพิพาทในที่ดินที่ล้อมอยู่ซึ่งเป็นทางที่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เสียหายน้อยที่สุดเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้ทางพิพาทจึงเป็นทางจำเป็น(ฎ.2861/49) แต่ถ้าไม่ปรากฏว่าการเข้าออกจากที่ดินโจทก์สู่แม่น้ำฯ ต้องข้ามสระ บึงหรือมี ที่ชันอันมีระดับที่ดินกับแม่น้ำนซึ่งเป็นทางสาธารณะสูงกว่ากันมาก ไม่ถือว่าที่ดินไม่มีทางออกสู่ทางงสาธารณะ ได้ตามมาตรา 1349 วรรคสอง(ฎ.5792/51)
      7.การเลือกที่ดินและวิธีทำทางจำเป็น (มาตรา 1349 วรรคสาม)หากที่ดินที่ล้อมอยู่อาจมีหลายแปลงต่างเจ้าของกัน เจ้าของที่ดินที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่มีสิทธิขอผ่านที่ดินที่ล้อมอยู่แปลงใดก็ได้ แต่จะใช้ทางจำเป็นส่วนใดและวิธีทำทางต้องใช้ทางจำเป็นให้พอควรแก่ความจำเป็นโดยให้เสียหายน้อยที่สุด(ฎ.5103/47)
      8.การใช้ทางจำเป็น ไม่ถูกจำกัดว่าต้องใช้เดินอย่างเดียว มีสิทธิใช้รถยนต์ผ่านทางได้ (ฎ.653/16) บางกรณีศาลฎีกาวินิจฉัยว่าบ้านเมืองปัจจุบันและการประกอบอาชีพของจำเลยที่จำเป็นต้องใช้รถยนต์ในการเดินทางมาประกอบการพิจารณาด้วย(ฎ.802/47)แต่ถ้าก่อนซื้อที่ดินมาเจ้าของที่ดินรู้อยู่แล้วว่าทางจำเป็นใช้เฉพาะการเดินเข้าออกเท่านั้น เมื่อซื้อที่ดินมาแล้วจะขอใช้รถยนต์ผ่านทางจำเป็นไม่ได้(5114/40)
      9.ผู้มีสิทธิจะผ่านต้องใช้ค่าทดแทนแก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมเป็นความเสียหายอันเกิดจากเหตุที่มีทางผ่านนั้น แต่กฎหมายไม่บังคับว่าจะต้องใช้ค่าทดแทนก่อนจึงจะใช้ทางจำเป็นได้ เจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมมีสิทธิฟ้องให้เปิดทางจำเป็นได้โดยไม่ต้องเสนอค่าทดแทนก็ได้ เมื่อโจทก์ไม่เสนอค่าทดแทนแก่จำเลย และจำเลยไม่ฟ้องแย้งเรียกค่าทดแทนจากโจทก์คดีไม่มีประเด็นเรื่องค่าเสียหาย จำเลยต้องไปว่ากล่าวเป็นคดีใหม่ (74/40)ผู้มีสิทธิใช้ทางจำเป็นต้องใช้โดยมีขอบเขตด้วยความระมัดระวัง โดยคำนึงถึงผลเสียหายอันจะเกิดขึ้นแก่ผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกบังคับใช้ทางจำเป็นด้วย เมื่อที่ดินโจทก์เป็นที่ว่างเปล่ายังไม่ทำประโยชน์ใด ๆ ส่วนที่ดินแปลงที่ล้อมอยู่โดยรอบมีสภาพเป็นทุ่งนา โจทก์ซื้อที่ดินมาตั้งแต่ปี 2517 ขณะนั้นยังไม่มีทางสาธารณะ โจทก์ย่อมรู้อยู่แล้วในขณะนั้นว่าที่ดินที่โจทก์ซื้อไม่อาจใช้รถยนต์ผ่านเข้าออกได้ คงใช้ทางได้เฉพาะการเดินเข้าออกเท่านั้น เมื่อโจทก์ยอมรับสภาพการที่จะไม่ใช้รถยนต์เข้าออกในทางขณะที่ซื้อมาแต่แรกเท่ากับโจทก์ยอมรับสภาพที่ต้องจอดรถยนต์ไว้ในสถานที่อื่น โจทก์ไม่อาจอ้างได้ว่าเป็นทางจำเป็นเพื่อการใช้รถยนต์ ประกอบกับที่ดินจำเลยมีเนื้อที่ประมาณ 3 งานเศษหากเปิดทางกว้าง 2 วาหรือ 4 เมตร ตามที่โจทก์ขอย่อมเสียหายแก่จำเลยเกินสมควร(ฎ.2989/52)
      10.ทางพิพาทอันเป็นทั้งจำเป็นและเป็นทางภารจำยอมในขณะเดียวกันได้ ฟ้องที่บรรยายว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นและทางภารจำยอมเป็นฟ้องที่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นคำฟ้องที่ใช้ศาลเลือกวินิจฉัยเอาจากพยานหลักฐาน เมื่อศาลฟังว่าเป็นทางจำเป็นแล้วก็ไม่ต้องวินิจฉัยว่าเป็นภาระจำยอมอีก(ฎ.3758/43)หรือกรณีโจทก์บรรยายฟ้องว่าทางพิพาทเป็นทั้งทางจำเป็นและภาระจำยอม และศาลวินิจฉัยก่อนว่าทางพิพาทไม่ใช่ทางภาระจำยอม ศาลมีอำนาจให้เปิดทางในฐานะเป็นทางจำเป็นได้(ฎ.5881/48)
             

ทางจำเป็นกรณีแบ่งแยกที่ดิน (มาตรา 1350)

      ถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันและไม่ต้องเสียค่าทดแทน
      1.การแบ่งแยกที่ดินเป็นเหตุให้ที่ดินแปลงหนึ่งไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ กรณีนี้จะเรียกร้องทางเดินได้เฉพาะที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนเท่านั้น ไม่รวมถึงที่ดินที่เคยเป็นแปลงเดียวกับที่ดินแปลงที่แบ่งแยกมา เช่นที่ดินโจทก์แบ่งแยกจากโฉนดเลขที่ 82 ถือว่าแบ่งจากโฉนดเลขที่ 82 เท่านั้น แม้โฉนดเลขที่ 82 จะเคยเป็นแปลงเดียวกับโฉนดเลขที่ 74 ของจำเลยมาก่อนก็ตาม ไม่ถือว่าโฉนดโจทก์แบ่งจากโฉนดเลขที่ 74 ไม่ได้ โจทก์เรียกร้องเอาทางพิพาทจากโฉนดเลขที่ 74 ไม่ได้ เรียกได้เฉพาะโฉนดเลขที่ 62 เท่านั้น(1974/43)ต้องเป็นกรณีแบ่งแยกที่ดินทำให้ที่ดินแปลงหนึ่งไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะที่มีอยู่เดิมก่อนแบ่ง ไม่ใช่ทางสาธารณะเกิดภายหลังแบ่งที่ดินแล้ว(ฎ.629/22)การแบ่งแยกต้องเป็นเหตุให้ที่ดินที่แบ่งแยกบางแปลงไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ถ้าขณะแบ่งแยกมีทางผ่านไปยังทางสาธารณะได้ กรณีเช่นนี้ไม่ใช่กรณีตาม 1350  เช่นเดิมที่ ว.มีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยผ่านที่พิพาทเท่านั้น ว.แบ่งขายที่ดินบางส่วนแก่ ส. ส.ใช้ทางพิพาทออกสู่ทางสาธารณะเช่นกัน แต่ ส.เพิ่งออกทางสาธารณะโดยผ่านทางอื่นภายหลัง ต่อมา ว.ขายที่ดินที่เหลือให้โจทก์ ๆ ชอบใช้ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นออกสู่ทางสาธารณะได้ต่อไปโดยไม่ต้องผ่านที่ดิน ส.เพื่อออกทางสาธารณะทางอื่น เนื่องจากขณะ ว.แบ่งขายที่ดินบางส่วนให้ ส.ไม่เป็นเหตุให้ที่ดินส่วนที่เหลือออกสู่ทางสาธารณะไม่ได้ตาม 1350 (ฎ.607/37)ที่ดินโจทก์แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 4383 ซึ่งอยู่ติดกับคลองสาธารณะ แม้โจทก์จะมีความจำเป็นต้องเดินทางโดยใช้รถยนต์เป็นพาหนะไม่สะดวกที่จะเดินทางโดยทางเรือ แต่มาตรา 1350 บัญญัติให้เจ้าของที่ดินแปลงที่แบ่งแยกเรียกร้องเอาทางเดินได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกกันโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยเปิดทางพิพาทเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะได้อีก(1224/42,250/42)
      2.สิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็น เจ้าของที่ดินที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่อันเนื่องจากการแบ่งแยกหรือแบ่งโอน มีสิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็นผ่านที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนมาได้ แม้จะมีทางเดินผ่านที่ดินผู้อื่นสู่ทางสาธารณะได้ก็ตาม(ฎ.119/52)มาตรา 1350 ต้องเป็นกรณีแบ่งที่ดินทำให้ที่ดินแปลงหนึ่งไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่เดิมก่อนแบ่ง ถ้าทางสาธารณะเกิดขึ้นหลังจากแบ่งแยกแล้วไม่เข้ามาตรา 1350 แต่ใช้มาตรา 1349 (ฎ.9325/2553)
      3.ที่ดินที่แบ่งแยกออกมาต้องไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยทางอื่นได้ แม้ที่ดินโฉนดเลขที่ 53 แบ่งแยกหรือแบ่งโอนจากที่ดินโฉนดแปลงใหญ่เลขที่ 81 ทำให้ที่ดินแปลงนี้ถูกที่ดินที่แบ่งแยกคราวเดียวกันปิดล้อมไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ก็ตาม แต่เวลานั้นเจ้าของผู้ได้รับที่ดินจากการแบ่งแยกยังเป็นเจ้าของที่ดินอีกแปลงหนึ่งซึ่งอยู่ติดกับที่ดินแปลงที่ได้รับการแบ่งแยกทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เลขที่ 19 (ก่อนแบ่งตามคำพิพากษาศาลฎีกา) และที่ดินโฉนดเลขที่ 19 เดิมมีทางพิพาทกว้าง 10 เมตร เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะซึ่งเจ้าของใช้ทางพิพาทในที่ดินแปลงดังกล่าวออกสู่ทางสาธารณะของโฉนดเลขที่ 53 ได้ ถือว่าโฉนดที่ดินเลขที่ 53 ที่แบ่งแยกมามีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยทางอื่นอยู่แล้ว สิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็นบนที่ดินที่แบ่งแยกมาในคราวเดียวกันตามมาตรา 1350 ย่อมหมดไปตั้งแต่นั้นแล้ว แม้ต่อมาโฉนดที่ดินเลขที่ 19 เดิมจะถูกบังคับให้แบ่งแยกและบังคับให้โอนขายแก่จำเลยตามคำพิพากษาศาลฎีกา ทำให้ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 53 ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะอีกครั้ง โจทก์เจ้าของที่ดินตามโฉนดเลขที่ 53 จะกลับไปใช้สิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็นบนที่ดินแบ่งที่แบ่งแยกมาในครั้งก่อนตามมาตรา 1350 อีกไม่ได้ คงมีสิทธิผ่านที่ดินแปลงใดแปลงหนึ่งที่ล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ในฐานะทางจำเป็นตาม 1349 เท่านั้น(ฎ.6229/51)กรณีที่ดินแบ่งแยกแล้วมีทางออกสู่ทางสาธารณะได้แม้เป็นทางแคบ ไม่ใช่ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ไม่สามารถใช้รถยนต์เข้าออกได้ ขอเปิดทางจำเป็นตามมาตรา 1349,1350 ไม่ได้(ฎ.6372/50)
      4.การฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็น มาตรา 1350 ต้องเป็นกรณีที่ที่ดินแปลงเดิมมีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว เมื่อแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตรา 1350 ได้โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน แต่คดีนี้เดิมที่ดินของโจทก์เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ ต้องอาศัยที่ดินผู้อื่นเดินผ่านเพื่อออกสู่ทางสาธารณะ การที่มีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยผ่านที่ดินผู้อื่นได้เพราะเขายินยอม มิใช่สิทธิตามกฎหมายถือว่าไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ กรณีของโจทก์ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 1350 แต่เป็นกรณีที่ดินโจทก์มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะโจทก์สามารถผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ตามมาตรา 1349 ซึ่งที่ดินโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะหลายทางคือทางแรกผ่านที่ดิน ส.ซึ่งขายที่ดินให้โจทก์แล้วออกไปทางที่ดินของ ด. โดย ส.และ ด.ไม่หวงห้าม ทางที่สองออกทางที่ดินของ ป.และทางที่สามคือทางพิพาทนั้นโจทก์เพิ่งมาใช้ภายหลัง เมื่อโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้หลายทางโดยผ่านที่ดินของ ส.ด.และ ป. ซึ่งบุคคลดังกล่าวมิได้หวงห้ามโจทก์แต่อย่างใด การที่โจทก์จะขอเปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นเพื่อความสะดวกของโจทก์ แต่ทำให้จำเลยต้องเดือดร้อนและเสียหาย และถ้าหากให้ ล.1 เปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นจะทำให้ ล.1 ต้องรื้อบริเวณหลังบ้านอันจำทำให้ ล.1 ได้รับความเสียหายและเดือดร้อนอย่างมาก ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรา 1349 วรรคสาม การกระทำของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต(ฎ.3408/51)

************

2 ความคิดเห็น:

  1. ที่ดินที่ซื้อมาจากกรมบังคับคดีที่ดินเป็นที่ยาวติดถนนหน้าหลัง ตอนที่เจ้าของคนเก่าอยู่ได้ให้ลูกผ่านหน้าบ้าน แต่เมื่อที่ดินถูกเปลี่ยนเจ้าของแล้วซึ่งเราต้องการถมที่ดิน เค้ากับบ้านว่าทางที่เคยผ่านเป็นทางสาธารณะแต่เค้าก็สามารถออกทางบ้านญาติพี่น้องได้แต่ไม่ออก แต่จะเอาที่ที่เราซื้อจากกรมบังคับคดี ถ้าเราไม่ให้จะผิดมั้ย

    ตอบลบ
  2. ผมมีที่ดินไม่มีหลักฐาน(ขณะนี้)แต่เคยมีสค.1 ตอนนี้ถูกยกเลิกไปแล้ว ฉะนั้นตอนนี้เป็นที่ดินตาบอด. ไม่มีทางออก ที่ดินล้อมรอบก็ไม่มีหลักฐาน จะร้องขอทางจำเป็นได้หรือไม่ ถ้าได้จะทำอย่างไร มีขั้นตอนอะไรบ้างครับ

    ตอบลบ