วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2556

ปพพ.การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉล

อ.พยัพ

กลฉ้อฉล

การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉล  (มาตรา 159,160)

                “การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะ
                การถูกกลฉ้อฉลที่จะเป็นโมฆียะตามวรรคหนึ่ง ต้องถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าว การอันเป็นโมฆียะนั้นคงมิได้กระทำขึ้น
                ถ้าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลโดยบุคคลภายนอก การแสดงเจตนานั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงกลฉ้อฉลนั้น”(มาตรา 159)
                การบอกล้างโมฆียกรรมเพราะถูกกลฉ้อฉลตามมาตรา 159 ห้ามมิให้ยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต” (มาตรา160)

      1. ตัวอย่างกลฉ้อฉลถึงขนาดตกเป็นโมฆียะ เช่น
             1.1  จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินให้โจทก์โดยชี้ที่ดินแปลงอื่นว่าเป็นที่ดินที่จะขายเพื่อปกปิดเรื่องที่ดินที่จะขายมีไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่าน เป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อ เมื่อที่ดินที่ซื้อขายมีประมาณ 16 ไร่ ส่วนที่มีเสาไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านใช้ประโยชน์ไม่ได้เกือบ 5 ไร่ โจทก์ต้องการซื้อที่ดินเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย กลฉ้อฉลจึงถึงขนาดที่ว่าหากจำเลยไม่ได้กระทำกลฉ้อฉลโจทก์จะไม่เข้าทำนิติกรรมกับจำเลย การแสดงเจตนาของโจทก์เป็นโมฆียะ  (ฎ.717/12,2044/40)
             1.2  ขายที่ดินเพราะหลงเชื่อว่าผู้ซื้อโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากบุตรผู้จะขายแล้ว หากผู้จะซื้อทราบว่ายังไม่มีการโอนเงินเข้าบัญชี การจดทะเบียนโอนที่ดินแก่ผู้ซื้อคงมิได้กระทำขึ้น สัญญาซื้อขายที่ดินเป็นโมฆียะตามมาตรา 159  บอกล้างได้สัญญาไม่เป็นโมฆะ(ฎ.7394/50)
             1.3 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับจำเลยโดยโจทก์ไม่เคยไปดูที่ดินที่ซื้อ จำเลยยืนยันว่าที่ดินมีเนื้อที่ตรงตาม ส.ค.1 ซึ่งไม่เป็นความจริง เป็นการหลอกลวงฉ้อฉลโจทก์ให้เข้าทำสัญญา หากไม่มีการหลอกลวงโจทก์จะไม่เข้าทำสัญญา ๆ เป็นโมฆียะ โจทก์บอกล้างได้ตามมาตรา 173(5)(ฎ.5975/40)
             1.4  ขายที่ดินมือเปล่าโดยหลอกลวงว่าเป็นที่ดินที่สามารถออกหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินได้ทั้งหมด ความจริงผู้ขายทราบแล้วว่าออกหนังสือสำคัญได้บางส่วน แม้ผู้ซื้อเป็นผู้ดำเนินการออกหนังสือสำคัญเองก็ตาม เป็นการทำนิติกรรมโดยถูกกลฉ้อฉล(ฎ.7211/49)
             1.5 จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินให้โจทก์ โดยข้อความในสัญญาระบุที่ดินไม่มีภาระผูกพัน ความจริงติดจำนองเท่ากับจำเลยปกปิดความจริงของการที่ดินมีภาระผูกพัน ถ้าโจทก์รู้ความจริงว่าที่ดินติดจำนองคงไม่ซื้อจากจำเลย โจทก์สำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ซึ่งเป็นวัตถุของสัญญาจะซื้อจะขายซึ่งเป็นสาระสำคัญ การแสดงเจตนาซื้อที่ดินเป็นโมฆียะ (ฎ.1299/20)
      2.กรณีไม่ถือว่าเป็นกลฉ้อฉลถึงขนาด เช่น
             2.1 จำเลยเจ้าของที่ดินให้เช่าที่พิพาทแก่ ป.และทำสัญญาจะขายที่ดินแก่โจทก์ ตามสัญญาเช่าผู้ให้เช่าที่ดินตกลงว่าหากจะขายทรัพย์สินที่เช่า ผู้ให้เช่าจะแจ้งผู้เช่าทราบล่วงหน้าและให้ผู้เช่าตกลงซื้อก่อน การที่จำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์ใช้อุบายหลอกลวงจำเลยด้วยการนำความเท็จมาแจ้งแก่จำเลยว่าผู้เช่ายินยอมให้ขายที่ดินได้นั้น แม้เป็นความจริงก็มิใช่กลฉ้อฉลอันถึงขนาดที่จะทำให้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆียะ เพราะตามสัญญาเช่าเป็นหน้าที่ผู้ให้เช่าจะต้องแจ้งให้ผู้เช่าทราบว่าจำเลยตกลงขายให้ผู้ใด เป็นเงินเท่าใด ไม่ใช่หน้าที่โจทก์ต้องแจ้งแก่จำเลย(ฎ.2853/25)
             2.2  จำเลยโฆษณาโอ้อวดคุณสมบัติของรถยนต์ที่ขายให้โจทก์ว่าเป็นรถยนต์รุ่นใหม่ ความจริงเป็นรถยนต์เก่า และอวดอ้างคุณสมบัติของรถยนต์ที่ไม่เป็นความจริงอีกหลายประการ โจทก์ตกลงซื้อโดยเชื่อคำโฆษณาของจำเลย การซื้อรถยนต์เกิดจากกลฉ้อฉลให้โจทก์สำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ที่ซื้อขายกัน แต่รถยนต์ยังเป็นยี่ห้อเดียวกับที่โจทก์ต้องการซื้อ กลฉ้อฉลของจำเลยมิได้ถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลเช่นนั้น โจทก์จะไม่ซื้อรถยนต์จากจำเลย โจทก์เพียงแต่ยอมรับข้อกำหนดอันหนักขึ้นเท่านั้น โจทก์มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้(ฎ.4045/34)****
      3. กลฉ้อฉลตาม 159 วรรคสามหมายถึงกรณีที่เป็นนิติกรรมสองฝ่าย ถ้าบุคคลภายนอกทำกลฉ้อฉลให้แสดงเจตนาทำนิติกรรมฝ่ายเดียวตกเป็นโมฆียะทันที แม้คู่กรณีอีกฝ่ายจะไม่รู้หรือควรจะได้รู้ กลฉ้อฉลนั้นก็ตาม เช่น บ.หลอกลวงโจทก์ว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้จำนองโจทก์ มอบอำนาจให้ บ.จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้สามีโจทก์ที่มีต่อธนาคาร โจทก์หลงเชื่อจึงจดทะเบียนปลดจำนองให้ การปลดจำนองจึงเกิดจากกลฉ้อฉลของ บ.และเนื่องจากการปลดจำนองเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียว แม้จำเลยจะไม่รู้หรือควรจะได้รู้ถึงกลฉ้อฉลก็ย่อมเป็นโมฆะ โจทก์มีสิทธิบอกล้างให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ (ฎ.5308/38)
      4.มาตรา 160 เป็นบทบัญญัติคุ้มครองบุคคลภายนอกผู้สุจริตไม่คำนึงว่าบุคคลภายนอกจะเสียค่าตอบแทนด้วยหรือไม่ หากฟังว่าบุคคลภายนอกไม่สุจริตแล้ว แม้จะเสียค่าตอบแทนก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง เช่น
             4.1 จำเลยที่ 1  ฉ้อโกงโจทก์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ได้แสดงเจตนาไปเพราะถูกจำเลยที่ 1 ใช้กลฉ้อฉล นิติกรรมการยกให้ที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1   เป็นโมฆียะ  เมื่อโจทก์ฟ้องคดีถือว่าโจทก์บอกล้างโมฆียะกรรม นิติกรรมเป็นโมฆะ จำเลยที่ 2 รับซื้อฝากไว้จากจำเลยที่ 1  โดยไม่สุจริตแม้จะเสียค่าตอบแทน โจทก์ยกการบอกล้างโมฆียกรรมเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 2  ได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 160(ฎ.7772/46)
             4.2  แม้จำเลยที่  1 หลอกลวงเป็นกลฉ้อฉลต่อโจทก์เป็นเหตุให้หลงเชื่อตกลงขายที่ดินให้จำเลยที่ 1 อันทำให้นิติกรรมเป็นโมฆียะ แต่ จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกผู้รับซื้อฝากที่ดินไว้จากจำเลยที่  1 โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน แม้โจทก์จะขอไถ่ถอนที่ดินคืนจากจำเลยที่  2 ในขณะยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอน จำเลยที่ 2 ไม่ยอมให้ไถ่ถอน โจทก์ไม่อาจยกเอาเหตุโมฆียะที่โจทก์ได้บอกล้างแล้วขึ้นต่อสู้จำเลยที่  2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ตาม ปพพ.มาตรา 160 ประกอบมาตรา 1329 (ฎ.1522/46)
             4.3  ซื้อที่ดินโดยสำคัญผิดในราคาที่ดินเพราะถูกนายหน้าหลอกลวง ซึ่งจำเลยรู้หรือควรรู้ถึงการหลอกลวง โจทก์สำคัญผิดเรื่องราคาทรัพย์สินที่ซื้อขาย แม้ไม่ใช่สำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม ตัวบุคคลซึ่งเป็นลูกหนี้หรือทรัพย์สินที่เป็นวัตถุแห่งนิติกรรม แต่ราคาทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกันย่อมมีความสำคัญพอกับตัวทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม ถือว่าโจทก์แสดงเจตนาทำนิติกรรมโดยสำคัญผิด ในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของนิติกรรมและเกิดจากการฉ้อฉลในเวลาเดียวกัน ถือว่านิติกรรมเป็นโมฆะ เพราะเป็นผลดีต่อผู้แสดงเจตนาทำนิติกรรมโดยบกพร่องยิ่งกว่าเป็นโมฆียะ(ฎ.663/45)
      5.การคุ้มครองบุคคลภายนอกเนื่องจากโมฆียกรรมกรณีอื่น เช่นคู่กรณีบกพร่องเรื่องความสามารถ สำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคลหรือทรัพย์หรือเพราะถูกข่มขู่ เหล่านี้ไม่อยู่ในบังคับมาตรา ๑๖๐  แต่เป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรา 1329   ซึ่งต่างจากมาตรา 160  คือบุคคลภายนอกจะได้รับความคุ้มครองนอกจากต้องกระทำโดยสุจริตแล้วยังต้องเสียค่าตอบแทนด้วย
     

กลฉ้อฉลเพื่อเหตุ (มาตรา 161)

      “ถ้ากลฉ้อฉลเป็นเพียงเหตุจูงใจให้คู่กรณีฝ่ายหนึ่งยอมรับข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่คู่กรณีอีกฝ่ายนั้นจะยอมรับโดยปกติ คู่กรณีฝ่ายนั้นจะบอกล้างการนั้นหาได้ไม่ แต่ชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากกลฉ้อฉลนั้นได้”
      1. กลฉ้อฉลเพื่อเหตุหมายถึงกลฉ้อฉลไม่ถึงขนาดที่จะไม่มีนิติกรรมเลย เพียงแต่จูงใจให้อีกฝ่ายยอมรับข้อกำหนดที่หนักขึ้นกว่าที่คู่ความฝ่ายนั้นจะยอมรับโดยปกติ คู่ความฝ่ายนั้นจะบอกล้างการนั้นไม่ได้ แต่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกลฉ้อฉลนั้นได้
      2. ตัวอย่างกลฉ้อฉลเพื่อเหตุเช่น
             2.1  ผู้ซื้อต้องการซื้อสินค้าอยู่แล้ว แต่ผู้ขายทำกลฉ้อฉลให้ผู้ซื้อสินค้าในราคาแพงกว่าความเป็นจริงเป็นกลฉ้อฉลเพื่อเหตุ บอกล้างไม่ได้แต่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนคือราคาที่เพิ่มขึ้น(ฎ.1559/24)
             2.2 โจทก์ซื้อที่ดินตามโฉนดที่ดินโดยหลงเชื่อตามที่จำเลยฉ้อฉลว่าที่ดินดังกล่าวติดแม่น้ำ ไม่มีที่ดินแปลงอื่นคั่น ซึ่งเป็นกลฉ้อฉลเพื่อเหตุคือเพียงจูงใจให้โจทก์ยอมรับเอาราคาที่ดินแพงกว่าที่จะยอมรับโดยปกติ โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากกลฉ้อฉล  ส่วนที่โจทก์ต้องเสียค่าทางภาระจำยอมเพื่อออกสู่ทางสาธารณะปรากฏว่าก่อนซื้อโจทก์ทราบแล้วว่าที่ดินไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ จึงมิใช่ผลโดยตรงจากกลฉ้อฉลของจำเลย เรียกค่าเสียหายในส่วนนี้จากจำเลยไม่ได้(ฎ.696/31)
             2.3  สัญญาจ้างก่อสร้างโดยผู้รับจ้างกำหนดราคาวัสดุก่อสร้างสูงเกินไปมาก มิใช่คิดการกำไรในทางการค้าปกติ โดยอาศัยผู้ว่าจ้างไม่มีความรู้ด้านก่อสร้างและความไว้วางใจ จึงเข้าทำสัญญาด้วย เป็นกลฉ้อฉลเพื่อเหตุ ผู้ว่าจ้างเรียกค่าจ้างที่ชำระไปเกินไปกว่าราคาว่าจ้างอันแท้จริงในขณะนั้นคืนได้(ฎ.6103/48)
             2.4  จำเลยเจ้าของที่ดินทำสัญญาให้ บ.เช่าที่ดิน และทำสัญญาขายที่ดินให้โจทก์ สัญญาเช่าระบุหากจะขายทรัพย์สินที่เช่า ผู้ให้เช่าต้องแจ้งผู้เช่าทราบล่วงหน้าและให้ผู้เช่าตกลงซื้อก่อน จำเลยอ้างว่าโจทก์หลอกลวงจำเลยโดยนำความเท็จมาแจ้งแก่จำเลยว่าผู้เช่ายินยอมให้ขายที่ดินพิพาทได้ แม้เป็นความจริงก็ไม่ใช่กลฉ้อฉลอันถึงขนาดจะทำให้สัญญาจะซื้อขายที่ดินเป็นโมฆียะ เพราะตามสัญญาเช่าเป็นหน้าที่จำเลยผู้ให้เช่าต้องแจ้งผู้เช่าทราบว่าตกลงขายให้ผู้ใด เป็นเงินเท่าใด ไม่ใช่หน้าที่โจทก์ต้องแจ้งแก่จำเลย(ฎ.2853/21)
             2.5  จำเลยโอ้อวดคุณสมบัติของรถยนต์ที่ขายให้โจทก์ ว่าเป็นรถยนต์รุ่นใหม่ ความจริงเป็นรถยนต์เก่าเคยเปลี่ยนสีหลายครั้ง และอวดอ้างคุณสมบัติของรถยนต์ที่ไม่เป็นความจริงอีกหลายอย่าง โจทก์ซื้อขายรถยนต์โดยเชื่อคำโฆษณาโอ้อวดของจำเลย การซื้อรถยนต์เกิดจากกลฉ้อฉลให้โจทก์สำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ที่ซื้อขาย แต่รถยนต์ยังเป็นยี่ห้อเดียวกับที่โจทก์ซื้อ กลฉ้อฉลของจำเลยยังไม่ถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลเช่นนั้น โจทก์จะไม่ซื้อรถยนต์จากจำเลย โจทก์เพียงแต่ยอมรับข้อกำหนดอันหนักขึ้นเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลย (ฎ.4049/34)

กลฉ้อฉลโดยการนิ่ง(มาตรา 162)

      ในนิติกรรมสองฝ่าย การที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งจงใจนิ่งเสีย ไม่แจ้งความจริงหรือคุณสมบัติอันคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งไม่รู้ การนั้นจะเป็นกลฉ้อฉลหากพิสูจน์ได้ว่าถ้ามิได้นิ่งเสียเช่นนั้น นิติกรรมนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น       1.การนิ่งเสียไม่ไขข้อความอันจะถือว่าเป็นกลฉ้อฉลนั้น ต้องเป็นกรณีที่ผู้นั้นมีหน้าที่ควรจะบอกความจริงดังกล่าวด้วย กรณีจะมีโครงการตัดถนนผ่านที่ดินพิพาทหรือไม่ ไม่ใช่หน้าที่ผู้จะซื้อที่ดินต้องบอกความจริง แต่เป็นหน้าที่ผู้จะขายที่ดินต้องขวนขวายแสวงหาความจริงเอง ดังนั้นการกระทำของผู้จะขายไม่เป็นกลฉ้อฉล(ฎ.1131/32)
      2. จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและอาคารกับโจทก์โดยระบุว่าอาคารพิพาทเป็นอาคาร 5 ชั้น ผิดจากแบบที่จำเลยขออนุญาตเพียง 4 ชั้น และที่ดินดังกล่าวอยู่ในบริเวณสำรวจเวนคืน แต่จำเลยปิดบังข้อเท็จจริง ที่ดินและอาคารมีราคาสูงถึง 15 ล้าน หากโจทก์ทราบหรือเพียงแต่สงสัยว่าจะมีการเวนคืน โจทก์ย่อมไม่ยอมทำสัญญากับจำเลยอย่างแน่นอน เพราะเงินค่าทดแทนที่จะได้รับการจากกการเวนคืนไม่คุ้มกับจำนวนเงินที่ต้องชำระให้จำเลย  การที่จำเลยปิดบังข้อเท็จจริงเรื่องการเวนคืนที่ดินและขออนุญาตสร้างอาคารเพียง 4 ชั้น  เป็นกลฉ้อฉลของจำเลย (ฎ.63/44)
      3. หน้าที่ต้องบอกความจริงอาจเป็นหน้าที่ตามกฎหมายเช่นทำสัญญาประกันชีวิต ผู้เอาประกันภัยต้องบอกหรือเปิดเผยความจริงให้ผู้รับประกันภัยทราบ มิฉะนั้นสัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆะ หรือจะเป็นหน้าที่ตามขนบธรรมเนียมประเพณีหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน(ฎ.2076/14)

การทำกลฉ้อฉลด้วยกันทั้งสองฝ่าย (มาตรา 163)

      คู่กรณีต่างกระทำการโดยกลฉ้อฉลด้วยกันทั้งสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะกล่าวอ้างกลฉ้อฉลของอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อบอกล้างการนั้น หรือเรียกค่าสินไหมทดแทนมิได้


*************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น